กองทัพไทยร่วมกับ UN จัดสัมมนานานาชาติ ภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ภูเก็ต - กองทัพไทยร่วมกับสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ จัดการสัมมนานานาชาติ เรื่อง United Nations Senior National Planners ภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นเป็นเวลารวม 12 วัน ในระหว่างวันที่ 6 -17 ธันวาคม ณ จังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ตข่าวประชาสัมพันธ์

วันอังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2564, เวลา 14:00 น.

ในวันแรกของการจัดงานวานนี้ (6 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม โรงแรม ฮิลตัน ภูเก็ตอาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต พลเอก ณตฐพล บุญงาม เสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาฯ โดยมี Mr.Rafael Barbeiri, Representative of Department of Peace Operations(UN) ผู้แทนสหประชาชาติ กล่าวแนะนำหลักสูตรการสัมมนาฯ

โดยมี พลตรี ณัฐพล แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพ กรมยุทธการทหาร กล่าววัตถุประสงค์การจัดสัมมนาฯ ได้รับเกียรติจาก นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, พลเรือโท สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3, พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต, พันเอกเทอดศักดิ์ ใจอารีย์ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก, เจ้ากรมยุทธการทหาร,ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร และผู้แทน สสจ.ภูเก็ตเข้าร่วมในพิธีเปิดการสัมมนาฯ

พลตรี ณัฐพล กล่าวว่า การสัมมนานานาชาติฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการวางแผนของสหประชาชาติและประเทศสมาชิก ในการส่งกำลังทหารและตำรวจไปร่วมปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในภูมิภาคต่าง ๆ โดยการจัดสัมมนาฯ ในประเทศไทยนั้น เป็นการดำเนินการตามคำมั่นที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับสหประชาชาติในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการรักษาสันติภาพ (Leaders’ Summit on Peacekeeping) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการสนับสนุนสหประชาชาติพัฒนาขีดความสามารถด้านการรักษาสันติภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทด้านการรักษาสันติภาพของประเทศไทยในระดับสากล รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และสนับสนุนนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ จากสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ จำนวน 35 คน จาก 22 ประเทศ ในด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทุกประการ เช่น จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR อีก 3 ครั้ง และต้องปฏิบัติตามมาตรการการรักษาระยะห่าง และการติดตามโรค เป็นต้น

ทางด้าน Mr. Rafael ได้กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้มีการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหประชาชาติ (UN) ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีการเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 ที่นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวในที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในวาระของเรื่อง Peace Operations ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหประชาชาติ (UN) ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ในการร่วมก่อตั้งสหประชาชาติ นับมาตั้งแต่ต้นในฐานะสมาชิกชาติที่ 55 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะในฐานะประเทศที่สนับสนุนเรื่องกองกำลัง เข้าไปปฏิบัติงานเพื่อสันติภาพ รวมถึงประเทศที่สนับสนุนกำลังตำรวจเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อสันติภาพ จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่าง UN กับไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นมาโดยตลอด จนนำมาสู่การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดในตัวอย่างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ในปี 2016, ปี 2017 เป็นครั้งแรกที่ไทยได้ส่งกำลังทางทหารเข้าไปช่วยปฏิบัติการด้านสันติภาพในซูดาน

ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่