กอนช.เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ภูเก็ตเฝ้าระวัง 3 อำเภอ

เนื่องจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ’ฝนตกหนักถึงหนักมาก’ บางพื้นที่บริเวณประเทศไทยและ คลื่นลมแรง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 9 รายงานว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีร่อง มรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 17 สิงหาคม 2566, เวลา 11:19 น.

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม 

กอนช.เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 14 หลังพบร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทั้งนี้พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณีช่วงวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

ภาคเหนือ 

  • เชียงราย บริเวณอำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง
  • เชียงใหม่ บริเวณอำเภออมก๋อย 
  • ตาก บริเวณอำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง 
  • น่าน บริเวณอำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว โดยเฉพาะน่านปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

  • หนองคาย บริเวณอำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี 
  • บึงกาฬ บริเวณอำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง 
  • นครพนม บริเวณอำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม  บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์ 
  • สกลนคร บริเวณอำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย

ภาคตะวันออก 

  • ระยอง บริเวณอำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง 
  • จันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏและท่าใหม่ 
  • ตราด บริเวณอำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูดและเกาะช้าง

ภาคใต้ 

  • ระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี 
  • พังงา บริเวณอำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง 
  • ภูเก็ต บริเวณอำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง 
  • สตูล บริเวณอำเภอละงู 
  • ตรัง บริเวณอำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน

ทั้งนี้ กอนช. มีการประชุมเพื่อติดตามเร่งรัดมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนนี้ทั้งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอุทกภัย และขาดแคลนน้ำ  สำหรับ 12 มาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2566 เพื่อรองรับสถานการณ์ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน กรมประชาสัมพันธ์รับผิดชอบ 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) และ มาตรการที่ 11 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากมีความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์  "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่