การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 (เวลา 08.00-17.00 น.) เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป หลังการประกาศยุบสภา ซึ่งตามกฎหมายให้ กกต. ออกประกาศภายใน 5 วันนับแต่วันยุบสภา

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันศุกร์ ที่ 31 มีนาคม 2566, เวลา 10:54 น.

การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือหน้าที่ของคนไทยทุกคนในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ ปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน 

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • มีสัญชาติไทย หรือ หากเคยแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่ติดภาระไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ทาง กกต. กำหนดให้สามารถลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้งได้เริ่มตั้งแต่ 25 มีนาคม - 7 พฤษภาคม 2566

การเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งจาก ทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง สามารถยื่นคําขอลงทะเบียนใช้สิทธิ ภายใน 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง โดยยื่นคําขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่ กกต. กำหนด  ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตัวเองมีสิทธิเลือกตั้ง ผ่านช่องทาง

  • ยื่นคำขอด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน ยื่นคําขอลงทะเบียนต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  • ยื่นคําขอทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

สิ่งที่ต้องเตรียม ในการยื่นคําขอ

  • สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  • คำสั่งของทางราชการ หรือหนังสือ รับรองจากหน่วยงานของรัฐ
  • แบบคําร้องขอใช้สิทธิฯ

การเลือกตั้ง ส.ส. นอกเขตเลือกตั้ง

หากอาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่คนละเขต สามารถลงคะแนนเสียงนอกเขตได้ โดยลงทะเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่น 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง ผ่านช่องทาง

  • ยื่นคำขอด้วยตัวเองหรือสามารถยื่นคำขอเป็นกลุ่มได้โดยสามารถมอบหมายผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นยื่นแทนได้ ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น
  • ยื่นคำขอทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ
  • ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote

สิ่งที่ต้องเตรียม ในการยื่นคําขอ

  • สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  • แบบคําร้องขอใช้สิทธิฯ

วิธีลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต (สำหรับเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต)

ผู้ที่ประสงค์ยื่นคําขอลงทะเบียนฯ เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด สามารถดำเนินการยื่นคําขอลงทะเบียนด้วยตนเองได้ทางเว็บไซต์หรือทางแอปพลิเคชัน ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องนําส่ง

เอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียน ดังนี้

  • เว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน (BORA) ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต  
  • แอปพลิเคชัน Smart Vote

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

สำหรับคนไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเดินทางไปนอกราชอาณาจักรได้มีโอกาสใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน เลือกตั้ง ส.ส. ได้ โดยให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง โดยแนบเอกสาร หนังสือเดินทาง และ สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้ แบ่งเป็น 2 กรณี

  • กรณีอยู่นอกราชอาณาจักร ยื่นแบบคําร้องขอใช้สิทธิเลือกตั้งฯ เพื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิฯ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ในวันและเวลาราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูตแห่งเขตรับผิดชอบที่ตนมีถิ่นที่อยู่  ผ่านช่องทาง 1. ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน 2. ยื่นทางไปรษณีย์ถึงสถานเอกอัครราชทูต 3.ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต
  • กรณีอยู่ในประเทศไทยแต่จะเดินทาง ไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้ง ผ่านช่องทาง 1. ยื่นที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น 2. ยื่นทางไปรษณีย์ถึงสถานเอกอัครราชทูต 3. ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต

หากไม่ไปเลือกตั้ง ต้องทำอย่างไร 

สำหรับผู้ไม่ใช้สิทธิ เท่ากับว่าไม่ทำหน้าที่ของประชาชน ทำให้เสียสิทธิในกิจกรรมทางการเมือง โดยจะเสียสิทธิการคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ เสียสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี หากไม่อยากเสียสิทธิ หรือ มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เช่น อยู่ห่างจากเขตเลือกตั้งเกิน 100 กิโลเมตร ติดภารกิจ หรือ เจ็บป่วย สามารถแจ้งเหตุต่อนายทะเบียน หรือ แจ้งผ่านทางเว็บไซต์  www.bora.dopa.go.th ต้องแจ้งภายใน 7 วัน ก่อนการเลือกตั้ง หรือ หลังจากการเลือกตั้งไม่เกิน 7 วัน

- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่