จระเข้ก็ต้องจับ นักท่องเที่ยวก็ต้องช่วย! ไลฟ์การ์ดในหานช่วย 4 หนุ่มนักท่องเที่ยว

ภูเก็ต – ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตกำลังวุ่นอยู่กับการจับจระเข้ที่ว่ายจากทางใต้ของเกาะมุ่งหน้าทะเลฝั่งตะวันตก หลังจากที่เริ่มพบในพื้นที่ตำบลราไวย์เป็นจุดแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และในหานคือหนึ่งในฐานปฏิบัติการเฝ้าระวังจระเข้ ก่อนจะเคลื่อนทัพไปยังหาดกะตะและป่าตอง ตามลำดับ โดยค่ำวานนี้ (22 ก.ค.61) เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดหาดในหานได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหนุ่มกว่า 4 รายไม่ให้ได้รับอันตรายหลังลงเล่นน้ำหลังเวลาทำการ

The Phuket News

วันจันทร์ ที่ 23 กรกฎาคม 2561, เวลา 18:03 น.

เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Phuket Naiharn Surf Lifesaving Club ว่า “เวลา 19.00 น. โชคยังดีที่มีน้อง ๆ ไลฟ์การ์ดอยู่หน้าหาดยังไม่กลับบ้าน ทั้งที่เลิกงาน 18.30 น. นักท่องเที่ยว 4 คนลงเล่นน้ำตรงแนวกระแสน้ำได้พัดพาออกไปห่างฝั่งเกือบ 200 เมตร ไม่สามารถกลับเข้าฝั่งได้น้อง ๆ ไลฟ์การ์ดได้ลงไปช่วยก่อนจะจมน้ำต้องนำส่งโรงพยาบาลต่อไป 2 ราย”

สำหรับเรื่องนี้ถือว่ายังโชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากจดหมายเปิดผนึกจาก International Surf Lifesaving Association (ISLA) องค์กรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งระดับโลกที่ส่งถึง The Phuket News (สำนักข่าวภาษาอังกฤษ พี่ชายของ ข่าวภูเก็ต) เมื่อเช้าวันนี้ระบุว่า จังหวัดภูเก็ตมีชายหาดเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายฝั่งหรือไลฟ์การ์ดที่ได้รับการฝึกฝนและสามารถทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้จริง นั่นก็คือหาดในหาน และหาดป่าตอง

จดหมายฉบับดังกล่าวเปิดด้วยคำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากจังหวัดภูเก็ตจ้างเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดไม่ได้รับการฝึกฝนเข้าทำงาน?”

"นี่คือสัญญาณเตือนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ดำเนินการจัดการเรื่องเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดอย่างเหมาะสมและถูกต้อง เพราะคำพูดสวยหรูเกินจริงเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดในภูเก็ต รวมถึงการให้ข้อมูลที่ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับการฝึกฝนและมีอุปกรณ์การช่วยชีวิตที่ครบครันนั้นรังแต่จะทำให้เกิดผลเสียร้ายแรง” จดหมายฉบับดังกล่าวระบุ

“กับสภาพอากาศปัจจุบัน ที่ปราศจากคลื่นลมแรง ไม่มีฝนตกหนักหรือเมฆครึ้ม แต่ยังคงมีกระแสน้ำที่รุนแรง ที่สามารถเอาชีวิตของนักท่องเที่ยวไปได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ISLA กล่าวเพิ่มเติม "ด้วยคลื่นมีขนาดเล็กลง แต่อันที่จริงแล้วมันกลับอันตรายมากกว่าเดิม เพราะนักว่ายน้ำที่ยังขาดประสบการณ์ได้ประเมินความอันตรายของกระแสน้ำต่ำเกินไป”

และในวันที่อากาศสดใส วันที่สภาพอากาศโดยรวมล่อใจให้ผู้คนออกมาพักผ่อนและใช้เวลาที่บริเวณชายหาด ซึ่งเมื่อพวกเขาเหยียบย่างลงบนหาด พวกเขาก็จะคิดว่า “ทำไมไม่ลงไปเล่นน้ำสักหน่อยล่ะ”

ISLA กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการปักธงแดงที่มากจนเกินไป เพราะตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นมา ไม่พบว่าโซนปลอดภัยสำหรับการว่ายน้ำมีการปักธงเหลือง-แดงที่หาดสุรินทร์เลย ซึ่งนั่นมันก็ส่งผลบางอย่าง...

“การปักธงแดงมากเกินไปไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชายหาดหนาแน่นไปด้วยผู้คน จนในที่สุดคนก็จะมองไม่เห็นความสำคัญธงแดง และนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา”

“การทำเครื่องหมายสำหรับพื้นที่ว่ายน้ำปลอดภัยด้วยธงเหลือง-แดง หมายความว่าเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจัดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ว่ายน้ำ ถือเป็นการป้องกันในงานไลฟ์การ์ดอย่างหนึ่ง แต่การไม่สนใจแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางน้ำเหล่านี้ ด้วยการจ้างพนักงานไลฟ์การ์ดไร้ความสามารถด้วยค่าแรง 9 พันบาทต่อเดือน ถือเป็นสูตรสำเร็จของความหายนะ” ISLA ชี้

“การปักธงแดงตลอดแนวชายหาด โดยไร้ซึ่งทักษะและเหตุผลนั้นไม่ใช้ยุทธวิธีที่ถูกต้องหรือมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด ในแง่ของงานด้านความปลอดภัยทางทะเล”

นอกจากนี้ จดหมายของ ISLA ยังได้พูดถึง 2 สาเหตุที่มีการใช้ธงแดงมากเกินไปบริเวณชายหาดภูเก็ต

“อย่างแรก คือ เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดในปัจจุบันไม่มีประสบการณ์มากพอ ที่จะบอกได้ว่าบริเวณไหนปลอดภัยจากกระแสน้ำ และข้อต่อมาคือถ้าหากพวกเขาเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับว่ายน้ำ เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดเองก็จะต้องไปประจำที่นั่นและพร้อมสำหรับให้การช่วยเหลือ แต่ความเป็นจริงคือในหลาย ๆ หาด เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้จริง”

สำหรับจดหมายฉบับดังกล่าว ที่เขียนขึ้นโดยองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางการช่วยชีวิตทางน้ำระดับนานาชาติ ก็ได้ทิ้งท้ายข้อความว่า "หากจังหวัดภูเก็ตมีความจริงใจและคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะเป็นสำคัญแล้ว ภาครัฐจะต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดมืออาชีพพร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่มีประสิทธิภาพโดยทันที”

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่