จังหวัดภูเก็ต Kick Off การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5

ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 เวลา 08.00 น. จังหวัดภูเก็ตได้จัดพิธีเปิดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (Kick Off) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธี

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันอังคาร ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568, เวลา 09:50 น.

ทั้งนี้ ภายหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดภูเก็ตได้ทำการออกประกาศจังหวัด “ห้ามเผา” ในช่วงหน้าแล้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง

ในการจัดกิจกรรม นายโสภณ ทองไสย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูแล้งที่ค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของประเทศ

การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยเฉพาะการรณรงค์ “หยุดเผา หยุดฝุ่น เพื่อคุณ เพื่อเรา” ผ่านการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แบบเคาะประตูบ้าน พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินมาตรการลดปริมาณฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น การเผาในที่โล่ง ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด เพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

BAAN KRU JAY INTERNATIONAL KINDERGARTEN

โอกาสนี้ จังหวัดภูเก็ตขอความร่วมมือจากประชาชนในการหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่ง และให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสามารถติดตามข้อมูลได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ



 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่