จังหวัดภูเก็ตแถลงข่าวงานสดุดีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ประจำปี 2565

ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 น. ณ PUBLIC HOUSE (LANLOM) ชั้น 1 CENTRAL PHUKET ฝั่ง FESTIVAL ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นางจันทนา สิทธิพันธ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตร พงศ์วัชร์ นางกรทิชาต์ วัฒนพันธ์ เลขานุการมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานสดุดีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ส่วนราชการ สื่อมวลชน เข้าร่วม

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันศุกร์ ที่ 4 มีนาคม 2565, เวลา 09:17 น.

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก อันมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ประกอบกับเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์นับแต่อดีตกาลอันยาวนาน ซึ่งบรรพบุรุษได้รักษาไว้ ด้วยเลือดเนื้ออย่างกล้าหาญองอาจ สมควรที่ลูกหลานชาวภูเก็ตจะได้ระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่นี้ เพื่อเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แด่ท่านทั้งสองจึงจัดงาน “สดุดีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร” ขึ้น เพื่อเทิดทูนเกียรติท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และวีรชนผู้หาญกล้าเมืองถลางให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต และเป็นการบูรณาการความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้ชุมชมมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน ศิลปวัฒนธรรม นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-20 มีนาคม 2565 ณ วัดเทพวนาราม (วัดม่าหนิก) สวนพระพุทธศาสนาวัดม่วงโกมารภัจจ์ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และบริเวณพื้นที่อนุสรณ์สถานเมืองถลาง โดยมีกิจกรรม พิธีอุปสมบทหมู่ ในวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565 ณ วัดเทพวนาราม (วัดม่าหนิก) อำเภอถลาง, พิธีทำบุญตักบาตร (ช่วงเช้า) และพิธีบวงสรวงปู่ย่า ตายาย บรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง (ช่วงเย็น) ในวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 ณ สวนพระพุทธศาสนาวัดม่วงโกมารภัจจ์, พิธีวางพวงมาลา และสดุดีวีรกรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ณ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (แยกท่าเรือ) และบริเวณอนุสรณ์สถานเมืองถลางและการจัดการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ถลาง ประกอบแสง สี เสียง และลานวัฒนธรรมจำลองวิถีชีวิตเมืองถลาง ในระหว่างวันที่ 13 - 15 มีนาคม 2565 ณ บริเวณพื้นที่อนุสรณ์สถานเมืองถลาง

ขณะที่นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยนำเอาประวัติศาสตร์คู่บ้านคู่เมือง วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในการนำเสนอเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต พร้อมเทิดทูนวีรกรรมอันหาญกล้าของสองวีรสตรีและวีรชนผู้กล้าเมืองถลางให้อนุชนได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณแก่ผู้กระทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน ในปีนี้การแสดงแสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ ได้ผสมผสานระบบแสง สี เสียง ในการเล่าเรื่อง เพิ่มความตื่นตาตื่นใจในการรับชม โดยจัดการแสดงในวันที่ 13-15 มีนาคม 2565 ณ อนุสรณ์สถานเมืองถลาง (บ้านเหรียง) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ชมฟรี 3 วัน 3 รอบการแสดง โดยในปีนี้มีวาระครบรอบ 237 ปี วันแห่งถลางชนะศึก ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2565 การจัดการแสดง แสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จะดำเนินการภายใต้ชื่อเรื่อง “237 ปี น้อมสดุดี สองวีรสตรีศรีถลาง” 

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนักแสดงรับเชิญ คุณนก จริยา แอนโฟเน่ และนักแสดงกิตติมศักดิ์ในจังหวัดภูเก็ตมาร่วมแสดงกว่า 300 ชีวิต รวมถึงฉากการแสดงที่สมจริงกว่า 10 ฉากโดยการร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรหลากหลายอาชีพ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร นายทหารและกำลังพบจากกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3, สถานศึกษา, สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนจงหวัดภูเก็ต รวมถึงชุมชนในพื้นที่ โดยแบ่งฉากบทละครเป็น 13 องค์ ประกอบด้วย องค์ที่ 1 เบิกฟ้ามหานที, องค์ที่ 2 ระบำนฤตยะ ฉ สูโร,องค์ที่ 3 แผ่นดินนี้เมืองถลาง, องค์ที่ 4 สู่ขอแต่งงาน, องค์ที่ 5 มหามิตรแห่งนาวา, องค์ที่ 6 โบดอพญา ปฐมบทแห่งสงคราม,องค์ที่ 7 สยามยามต้นกรุงรัตนโกสินทร์, องค์ที่ 8 แผ่นดินถลางกำสรวล, องค์ที่ 9 ศึกใหญ่ในปากพระ, องค์ที่ 10 กลยุทธ์ต่อสู้ ศัตรูพ่าย, องค์ที่ 11  รำลึกใต้ร่มพระบารมี, องค์ที่ 12 ยอดนารีศรีถลาง, องค์ที่ 13  ผาสุกแห่งความร่มเย็น

นอกเหนือจากไฮไลท์การแสดงแสง สี เสียงแล้ว ภายในงาน ตลอด 3 วัน จะมีกิจกรรม การแสดงวิถีพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงรองเง็งและมโนราห์ จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต การจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน สินค้า OTOP ของดีเมืองภูเก็ต อาหารอร่อย ภูเก็ต จำนวนกว่า 200 ร้าน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยในปีนี้ได้บูรณาการร่วมกับเทศบาลตำบลเทพกระษัตรีและองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรีในการจัดลานศิลปวัฒนธรรมด้วย 

จึงขอเชิญชวนให้ผู้มาเที่ยวชมงาน แต่งกายชุดไทยมาร่วมงานเพื่อร่วมรณรงค์การแต่งกายย้อนยุคให้เข้ากับบรรยากาศของการจัดงานเหมือนเช่นทุกปีในระหว่างวันที่ 13 – 15 มีนาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ อนุสรณ์สถานเมืองถลาง (บ้านเหรียง) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่