ชาวต.ศรีสุนทรร่วมร้อยคัดค้านการใช้สถานที่ในชุมชนกักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 จากเกาหลี

ภูเก็ต – วันนี้ (9 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 12.45 น. ชาวบ้านตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จำนวนกว่า 100 รายรวมตัวกัน ณ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตภูเก็ต ในพื้นที่ตำบลศรีสุนทร เพื่อคัดค้านการที่จังหวัดภูเก็ตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ของการเก็บตัวผีน้อยกลุ่มเสี่ยง COVID-19 ที่เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐเกาหลี

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 9 มีนาคม 2563, เวลา 17:52 น.

นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร นำชาวบ้านนับร้อยร่วมคัดค้าน ภาพ เอกภพ ทองทับ

นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร นำชาวบ้านนับร้อยร่วมคัดค้าน ภาพ เอกภพ ทองทับ

ซึ่งการรวมตัวกันในครั้งนี้นำโดย นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านตำบลศรีสุนทรและชาวบ้านกว่าร้อยคน ได้มารวมตัวกันเพื่อคัดค้านการที่จังหวัดภูเก็ตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ของการเก็บตัวผีน้อย กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี

โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่าที่ ร.ต.วิกรม จากที่ ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายกองโทอดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง นายสุธา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต เลขเลือกตั้งที่ 1 พรรคพลังประชารัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดภูกเต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าทำความเข้าใจและชี้แจงกับชาวบ้าน

บรรยากาศในการทำความใจนั้น ชาวบ้านได้นั่งฟังทางจังหวัดอธิบายเกี่ยวกับอันตรายของโรคดังกล่าว เกี่ยวกับข้อดีในการกักตัวผีน้อย ซึ่งชาวบ้านได้ออกไปคุยกับผู้ว่าฯว่าไม่ยินยอมให้ใช้สถานที่ดังกล่าวกักกันผีน้อยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชน การนำผีน้อยมากักตัวหากผีน้อยไม่ปฎิบัติตามกฎ แล้วออกไปท่องเที่ยวจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และอาจทำให้ชุมชนที่สงบต้องติดโรคจากผีน้อยไปด้วย

และในขณะที่ประชุมทำความเข้าใจกันอยู่นั้นชาวบ้านได้ส่งเสียงปรบมือลั่นห้อง และมีเสียงโห่ใส่ทางคณะผู้ว่าฯเป็นบางครั้งที่พูดไม่ถูกใจชาวบ้าน ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านได้มีการลุกเดินออกไปจากห้องประชุม และการหารือต้องยุติลง

นายวรวุฒิ กล่าวว่า “พี่น้องประชาชนกังวลทางจังหวัดภูเก็ตได้คัดเลือกศูนย์วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่กักตัวผีน้อย ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวัง พี่น้องเห็นว่าจุดนี้เป็นศูนย์ราชการ มี 3-4 หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ทั้งหมดที่นี้มีการทำงานปฎิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ก็เลยรวมตัวกันมาฟังความคิดเห็นของผู้ว่าฯ ให้ความรู้แลกเปลี่ยนกัน”

“โดยทางจังหวัดรับปากว่า จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าพื้นที่เป็นพื้นที่เหมาะสมจริงหรือไม่ ทางตนและชาวบ้านเห็นว่าจุดนี้เป็นจุดล่อแหลม ไม่ได้มิดชิด แถมมีประชาชนรวมตัวกันอย่างหนาแน่น พื้นที่ที่กักกันต้องเป็นพื้นที่มิดชิด ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และอยากให้ไปเลือกพื้นที่อื่น และย้ำว่าไม่ได้คัดค้านเรื่องการกักกันตัวผีน้อย แต่ต้องหาที่ที่เหมาะสม ไม่ใช่มาเอาสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เป็นเขตชุมชน มาเป็นพื้นที่กักกัน” นายวรวุฒิ กล่าว

นายภัคพงศ์ กล่าวว่า “การเดินทางเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อชี้แจงถึงการกำหนดสถานที่ดังกล่าวเป็นเอกเทศสำหรับแยกกักหรือกักกัน เฝ้าระวังสังเกตอาการสำหรับชาวไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ทางจังหวัดมีมาตรการเฝ้าระวัง ดูแล ป้องกันคุ้มครองความปลอดภัยให้กับชาวภูเก็ต” พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีประกาศราชกิจจานุเบกษามีผลเมื่อวันที่ 6 มี.ค.63 เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 จังหวัดภูเก็ต โดย คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้ประชุมเร่งด่วนและกำหนดสถานที่ รองรับกลุ่มเสี่ยงจากสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย (1)วิทยาลัยป้องกันบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตภูเก็ต 129/1 ม.4 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง (2)บ้านพักสวัสดิการโครงการชลประทานเขื่อนบางวาด ต.กะทู้ อ.กะทู้ (3)บ้านพักอุทยานแห่งชาติสิรินาถ 89/1 ม.1ต.สาคู อ.ถลาง และ (4.)ค่ายลูกเสือ จ.ภูเก็ต ต.รัษฎา อ.เมือง

โดยจะมีขั้นตอนการเตรียมการสถานที่ก่อนรับตัว กลุ่มที่เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐเกาหลี เข้าในสถานที่ดังกล่าว เป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่ 4 แห่ง นั้นสามารถรองรับได้ จำนวน 403 คน เพื่อดูแลอาการจัดประเภทไว้ 4 กลุ่ม ในการเตรียมห้องผู้มีอาการ และผู้ไม่มีอาการ ได้กำชับให้อยู่ในความปลอดภัยของประชาชนบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้น ให้เฝ้าสังเกตอาการผู้ที่เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐเกาหลี จะดำเนินการตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ระดับอำเภอทั้ง 3 อำเภอ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558

“ส่วนผู้ที่เดินทางจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาภูเก็ตแล้วนั้น ทางสสจ.ภูเก็ตได้มีการติดตามเฝ้าดูอาการแล้ว 1 ราย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ” นายภัคพงศ์ กล่าวย้ำความมั่นใจ

พ่อเมืองภูเก็ตกล่าวต่อไปว่า “จากการชี้แจงชาวบ้านบางส่วนเข้าใจแต่บางส่วนไม่เข้าใจ ไม่ต้องการให้ในพื้นที่เป็นที่สังเกตอาการของกลุ่มเสี่ยง ที่เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยกังวลความไม่ปลอดภัยได้เสนอให้ทางจังหวัดปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปที่อื่น ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตรับทราบข้อเสนอ และจะนำไปหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่