ชาวบ้านหาดสุรินทร์กว่า 100 คนรวมตัวเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ถึงความเดือดร้อนในการทำมาหากิน

ภูเก็ต - วันนี้ (27 พ.ย. 60) เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ประกอบการร้านอาหาร เตียงร่มผ้าใบ หมอนวด และชาวบ้านหาดสุรินทร์จำนวนประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ เพื่อรอเจรจาพูดคุยกับตัวแทนจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาการทำมาหากินบนชายหาด

เปรมกมล เกษรา

วันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2560, เวลา 11:52 น.

นายประดับ โกลิยานนท์ หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวกับข่าวภูเก็ต ว่า “ในวันนี้ชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบในการทำมาหากินอย่างหนัก”

“มีประเด็นหลายเรื่องที่เราต้องพูดคุยให้กระจ่าง เช่นเรื่องพื้นที่การบริการนวดแผนไทยบนพื้นที่ชายหาด เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายมาแอน สำราญ นายกอบต.เชิงทะล ได้อนุญาตให้เปิดบริการนวดแผนไทยบนชาดหาดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ตั้งร่มเตียงถาวร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่ กลับถามว่าทำไมยังมีการบริการนวดแผนไทยกันอยู่ จึงต้องรอพบกับนายมาแอนเพื่อไขข้อข้องใจดังกล่าว” นายประดับ กล่าว

ด้าน พ.ท.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม รองผบ.ร.25 พัน 2 กล่าวว่า “ตามปกติแล้วทางทหารไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งหรือทำธุรกิจใดๆ บนพื้นที่ชายหาดสุรินทร์ และได้เจรจากับชาวบ้านและอะลุ่มอล่วยให้ย้ายเครื่องมือทำกินจากชายหาดขึ้นมายังบริเวณถนนเลียบหาดชั่วคราวก่อน เนื่องจากทางเทศบาลยังอยู่ในช่วงหาพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้ทำมาหากิน โดยที่เราไม่ได้ทอดทิ้งหรือรังแกชาวบ้านแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ทราบว่าที่ผ่านมานายมาแอนไปตกลงกับชาวบ้านไว้ว่าอย่างไร”

ทางด้านนายจำลอง สิทธิโชค หนึ่งในตัวแทนผู้ชุมนุม กล่าวว่า “ผมและชาวบ้านหลายคนคาดว่าหนังสือการระงับการทำมาหากินบนชายหาดที่เพิ่งออกใหม่มาล่าสุดนั้นเกิดจากการที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม คลิก) และมีประเด็นข้อสงสัยอีกหลายๆ ข้อในเรื่องโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่นายมาแอนได้แจ้งว่าผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่เมื่อขอดูรายละเอียดการประชาพิจารณ์ดังกล่าว กลับไม่มีมาแสดงให้ประชาชนให้ดู”

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้ร่างหัวข้อในการพูดคุยเพื่อเรียกร้องความเดือดร้อนของชาวบ้านหาดสุรินทร์ไปยังอบต.เชิงทะเล นายอำเภอถลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และอธิบดีกรมที่ดิน ดังนี้

1. ให้นายกอบต.เชิงทะเลทำหนังสือรับรองถูกต้องตามกฎหมาย ยินยอมให้ค้าขายในที่สาธารณะได้
2. อ้างคสช. ที่ให้จัดระเบียบชายหาด แต่กลับมารื้อถอนร้านค้าชาวบ้าน ทำถูกต้องหรือไม่
3. อาชีพหมอนวดของชาวบ้านให้มีไว้คงเดิม จัดทำให้มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
4. จัดทำหลักเขตแผนที่ ที่ดิน 250 ไร่ให้ชัดเจน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474
5. ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตทางน้ำและอุปกรณ์ช่วยชีวิตแก่นักท่องเที่ยว
6. ให้นายกอบต.เชิงทะเลจัดการสร้างห้องน้ำสาธารณะไว้อย่างน้อย 2 จุด ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่มาออกกำลังกาย
7. ไฟฟ้าชายหาดหรือสนามหญ้าต้องสว่าง ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน
8. บนสนามหญ้าต้องตกแต่งให้ดูสะอาดปลอดภัยตลอดทั้งปี
9. สนามฟุตบอลหาดสุรินทร์เป็ยของส่วนบุคคหรือเป็นสมบัติของสาธารณะ ใช้งบประมาณจัดสร้างเท่าไหร่
10. ร่มเตียงชายหาด สองมาตรฐานหรือไม่
11. ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ใบอนุญาตการก่อสร้างต่างๆ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเที่ยว เขื่อนชายหาด และโรงแรมสุรินทร์บีช เป็นต้น
12. ถนนในหมู่บ้านหาดสุรินทร์ ชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ                                                                                                                                                                                                                      อย่างไรก็ตาม จากการโทรศัพท์ติดต่อนายมาแอนทราบว่า ยังไม่สะดวกมาพบกับชาวบ้านเนื่องจากติดภารกิจที่ศาล โดยมีปลัดอาวุโส อ.ถลาง ตร.สภ.เชิงทะเล อส.อ.ถลางเฝ้าดูสถานการณ์                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   ทั้งนี้นายประดับกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการชุมนุมในช่วงเช้า ณ หาดสุรินทร์ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ทางปลัดอำเภอจึงนัดชาวบ้านเพื่อเจรจากันอีกครั้ง ที่อำเภอถลาง ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย นี้ เวลา 09.30 น.                                                                

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่