ซอยด๊อกร้องขอให้ผู้ว่าทบทวนกรณี “จัดการปัญหาสุนัขจรจัดกระบี่ด้วยการกักขัง”

กระบี่ - มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสัตว์เกาะลันตา เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา กรณีที่มีสุนัขบริเวณริมหาดอ่าวเสี้ยว กัดนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นเด็กชายชาวอเมริกันอายุ 7 ขวบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร เห็นชอบในที่ประชุมให้หาสถานที่สร้างที่อยู่ชั่วคราว สำหรับกวาดต้อนสุนัขจากแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

วันพฤหัสบดี ที่ 30 มกราคม 2563, เวลา 14:22 น.

นายศักดาพล ทองจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของมูลนิธิ ให้ความเห็นเรื่องการจัดตั้งที่อยู่ชั่วคราวสำหรับสุนัขจรจัดว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็นและต้องดูแลสุนัขไปตลอดอายุขัย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลสุนัขแต่ละตัว ต้องมีทั้งค่าอาหาร ค่ายารักษา และต้องจัดหาสัตวแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำในการดูแลอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ยั่งยืน

งบประมาณที่จะนำมาลงทุนในส่วนนี้สามารถนำไปจัดทำโครงการทำหมันและฉีดวัคซีนสุนัข ซึ่งจะสามารถลดปัญหาสุนัขจรจัดได้ในระยะยาว และมูลนิธิยินดีร่วมมือพร้อมยกตัวอย่างกรณีของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสามารถลดจำนวนประชากรสัตว์จรจัดจากราวๆ 80,000 ตัว เหลือ 8,000 ตัวในระยะเวลา 16 ปีของการดำเนินงาน หรือเกาะลันตาที่ขณะนี้ก็เป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ไม่พบการติดเชื้อมาหลายปีแล้ว เนื่องมาจากโครงการทำหมันและฉีดวัคซีน
มูลนิธิเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ ว่าการมีสุนัขจรจัดในพื้นที่ท่องเที่ยวส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเมืองกระบี่ และทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ

อย่างไรก็ตามประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน ภูมิอากาศและบริบทแวดล้อมเอื้อต่อการขยายพันธุ์ของสุนัขจรจัด จึงเป็นการยากที่จะกำจัดสุนัขเหล่านี้ให้หมดไปได้ การนำสุนัขไปกักขังก็จะมีสุนัขกลุ่มใหม่เข้ามาในพื้นที่อยู่ดี ดังนั้นการจัดการเพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม และทำให้สุนัขเหล่านี้มีสุขภาพที่ดี ก็เป็นการเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองได้เช่นกัน

ด้านนางเฮเลน สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิเพื่อสัตว์ลันตา เสนอการแก้ปัญหาการควบคุมปริมาณสุนัขว่า ควรให้มีการลงทะเบียนเมื่อมีคนนำสุนัขตัวใหม่เข้ามา เช่นเกาะลันตาที่ต้องการผลักดันให้มีมาตรการนี้ เพื่อที่จะได้เข้าไปทำหมัน ฉีดวัคซีนและตรวจร่างกาย และหากกรณีถ้าถูกทอดทิ้งจะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเป็นสุนัขของใคร ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ได้

มูลนิธิทั้งสองเชื่อมั่นในการใช้ “ธรรมชาติคุมธรรมชาติ” โดยยกตัวอย่างกระบวนการ CNVR ซึ่งดำเนินการมากว่า 16 ปี ประกอบด้วย Catch คือการจับสัตว์มา Neuter คือการทำหมันเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ Vaccinate คือการฉีดวัคซีนเพื่อลดการแพร่ของโรคพิษสุนัขบ้า Return คือการนำสุนัขกลับไปไว้ถิ่นเดิม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากเนื่องจากธรรมชาติของสุนัขจะปกป้องถิ่นที่อยู่ของตน หากนำสุนัขฝูงเดิมออกไป ฝูงใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่ซึ่งเป็นสุนัขที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและทำหมัน สามารถขยายพันธุ์และสร้างฝูงที่ใหญ่กว่าเดิม จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่จบสิ้น

การนำสุนัขไปกักขังไว้ควรเป็นมาตรการรอง สำหรับสุนัขที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมที่ดุร้ายจริง ๆ และไม่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาอาจต้องทำควบคู่กันระหว่างการทำหมันฉีดวัคซีนซึ่งควรเป็นมาตรการหลัก และคัดกรองเฉพาะสุนัขที่มีปัญหาเท่านั้น ที่จะถูกนำส่งไปยังศูนย์พักพิงที่มีแผนจะก่อสร้าง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่