ตรวจสอบเรือประมงไทยต้องสงสัย ทำผิด IUU

ภูเก็ต - ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ตรวจสอบ เรือ ส.รุ่งสาคร 11 เรือประมงต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมายประมงนอกน่านน้ำ

เอกภพ ทองทับ

วันศุกร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 15:24 น.

พล.ร.ต.เจริญพล คุ้มราษี รองผู้บัญชาการทััพเรือภาคที่ 3 พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และคณะ รวมทั้งชุดสหวิชาชีพ ร่วมกันตรวจสอบเรือ ส.รุ่งสาคร 11 เรือประมงนอกน่านน้ำ สัญชาติไทย ที่หาปลาอยู่ในพื้นที่ซายา เดอ มัลฮา แบงก์ (Saya de Malha Bank) หรือยอดภูเขาใต้น้ำ กลางมหาสมุทรอินเดีย เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรายงานของเรือลำดังกล่าว ที่อาจจะมีการแจ้งรายการเท็จ ซึ่งอาจจะมีผลต่อภาพลักษณ์ในการแก้ไขปัญหา IUU-Fishing อย่างร้ายแรง ตามมาตรการตรวจเรือที่มีความเสี่ยง ในนโยบายการแก้ปัญหา IUU-Fishing ของรัฐบาล วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2560) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต

ทั้งนี้ เรือ ส.รุ่งสาคร 11 เป็นเรือขนาด 320 ตัน ยาว 38 เมตร และกว้าง 8 เมตร มีลูกเรือชาวไทย 28 คน จากการตรวจสอบในเบื้องต้นโดยสหวิชาชีพ ทั้งตัวเรือ ลูกเรือ เครื่องมือประมง ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีความผิดหรือไม่มีความผิด เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอย่างละเอียดตามขึ้นตอน โดยในส่วนของลูกเรือนั้นได้ลำเลียงไปยังสภ.วิชิต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการสอบสวนตรวจสอบและทำบันทึกประวัติ

พล.ร.ต.เจริญพล กล่าวว่า สำหรับการเข้าตรวจสอบเรือลำดังกล่าว สืบเนื่องจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กำหนดให้มีการตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำที่กำลังจะกลับเข้าเทียบท่า เพื่อรายงานตามประกาศของกรมประมง คือ เรือ ส.รุ่งสาคร 11 ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ได้ทำการส่งลูกเรือที่ป่วย ณ ประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ และลูกเรือคนดังกล่าวได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นก่อนการเดินทางเข้าประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ เรือ ส.รุ่งสาคร 11 ได้ส่งเอกสาร Advance Request for Entry in Port (AREP) แจ้งสัตว์น้ำในเรือไม่ทราบชนิด (Unknown) ซึ่งเป็นเหตุให้ชวนสงสัยว่า เรือลำดังกล่าวอาจกระทำความผิดต่อกฎระเบียบของ Indian Ocean Tuna Commission (IOTC) และอาจเข้าข่ายเป็นเรือที่กระทำความผิด IUU-Fishing ดังนั้นอธิบดีกรมประมงจึงจะมีประกาศเรียกเรือ ส.รุ่งสาคร 11 ให้เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

นายวัชรินทร์ รัตนชู ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมงเขต 3 (ภูเก็ต) กล่าวว่า ในการตรวจสอบความจริงก่อนออกจากท่าเรามีการตรวจสอบแล้ว 1 ครั้ง และครั้งนี้เป็นขากลับก่อนเข้าท่า จึงต้องตรวจเพิ่ม โดยมีการตรวจตัวเรือ เครื่องเรือ การบริหารจัดการบนเรือ เช่นเครื่องมือประมงตรงกับที่แจ้งหรือไม่ เอกสารใบอนุญาตเครื่องมือจับสัตว์น้ำ จำนวนปริมาณตรงตามที่แจ้งหรือไม่ นอกจากนี้ที่สำคัญคือต้องตรวจสัตว์น้ำว่าสัมพันธ์กับเครื่องมือหรือไม่

เช่นเป็นเรืออวนลากแต่ตรวจพบว่าไปได้ปลาผิวน้ำในปริมาณเกินกำหนดก็ผิด นอกจากนี้ต้องดูว่าสัตว์น้ำที่จับมานั้นมีสัตว์น้ำต้องห้ามตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญของกรมประมงมาตรวจสอบ อย่างไรก็ตามเน้นย้ำว่าการเรียกเรือประมงตรวจสอบดังกล่าวเป็นเพียงการตั้งข้อสงสัย เนื่องจากมารายงานตัวช้า ไม่ใช่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิด จึงต้องตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรม อีกด้านนึงคือเพื่อความมั่นคงของทรัพยากรของประเทศ ตามนโยบาลของรัฐบาล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่