ต่ออายุแรงงาน 3 สัญชาติ พร้อมนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย

ครม.มีมติเห็นชอบ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) ในปี 2561 ซึ่งมีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ให้สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือขอต่ออายุใบทำงานและขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่เป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 17 มีนาคม 2565, เวลา 12:33 น.

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต : เอกภพ ทองทับ

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต : เอกภพ ทองทับ

การต่ออายุดังกล่าวทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว สามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมาซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษอีก 6 เดือน (ในระหว่างที่ขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานอีกไม่เกิน 2 ปี)
ปัจจุบันมีคนต่างด้าว ภายใต้ MOU ในวาระการจ้างงานจะครบ 4 ปี จำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน กัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน เมียนมา 54,236 คน ทั้งนี้ ทางการของประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ก็ได้มีหนังสือ เห็นชอบกับการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว

4 ขั้นตอนขอใบอนุญาตทำงานต่อ 2 ปี

กำหนดให้แรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวรายนั้น ๆ สิ้นสุด ณ สถานที่ตั้งของแต่ละหน่วยงาน มีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1. คนต่างด้าวตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยคน
ต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาต ทำงาน พ.ศ. 2563
2. คนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ และกรณีคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ที่ยังมิได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมสิ้นอายุ หากประสงค์จะทำงานต่อให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ โดยคนต่างด้าวจะสามารถทำงานได้ เมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วเท่านั้น
*นายทะเบียนจะอนุญาตทำงานได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ
3. คนต่างด้าวขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป เพื่อทำงานเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แต่ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง
*กรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุ ให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าว เพื่อใช้ในการขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป
4. จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ
เปิดนำเข้าแรงงานเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกที่กระทรวงแรงงานเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 เพิ่มขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด เชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง รวม 8 จังหวัด เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย หลังจากสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง สถานประกอบการ และพบความต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด จำนวน 32,479 คน จึงมีการเร่งดำเนินการวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ( มาตรา 64) โดยใช้แนวทางเดียวกับการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชามาทำงานตามฤดูกาลภาคเกษตรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่เปิดนำร่องการนำเข้าฯ เป็นจังหวัดแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้เตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 เป็นที่เรียบร้อย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานจัดทำแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา เข้ามาทำงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. นายจ้างประสานลูกจ้าง เพื่อจัดเรียมเอกสารและนัดหมายวันเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเตรียมหลักฐาน ได้แก่ หลักฐานการตรวจโควิด – 19 โดยวิธี RT- PCR หรือผลรับรองการตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชม.ก่อนเดินทางเข้ามา เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด
2. ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการตรวจโควิด – 19 และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และเจ้าหน้าทีโรงพยาบาล ดำเนินการตรวจโรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าว และทำประกันสุขภาพระยะเวลา 3 เดือน และออกใบรับรอง ต.8
3. ด่านตรวจคนเข้าเมืองฯ ดำเนินการตรวจบัตรผ่านแดนที่ประเทศต้นทางออกให้ หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และดำเนินการตรวจประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ในบัตรผ่านแดน เป็นระยะเวลา 30 วันต่อครั้ง
4. สถานที่กักตัว โดยคนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วให้เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วัน และให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT – PCR จำนวน 2 ครั้ง กรณีตรวจพบเชื้อให้เข้ารับการรักษาโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา
5. การขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ ดำเนินการ ตรวจสอบเอกสาร ได้แก่
1. คำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64 (แบบ บต. 29)
2. สำเนาบัตรผ่านแดนหรือเอกสารซึ่งอธิบดีกรมการจัดหางานประกาศกำหนด และสำเนาหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
3. ใบรับรองแพทย์ (6 โรค)
4. รูปถ่ายขนาด 3 x 4 ซม. จำนวน 3 รูป
5. สัญญาจ้างและหนังสือรับรองการจ้าง
6. เอกสารนายจ้าง
7. หลักฐานการกักตัวครบกำหนดไม่พบเชื้อ

โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ ฉบับละ 100 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 225 บาท และออกใบอนุญาตทำงานแบบ บต.40 ไม่เกิน 3 เดือน

ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่