ถือศีลกินผักภูเก็ต 26 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 ‘ห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงอันตราย’

ภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตประชุมเตรียมการจัดงาน ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 เพื่อสืบทอดรักษามรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมอันดีงามที่เก่าแก่ของชาวจังหวัดภูเก็ต

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันอังคาร ที่ 30 สิงหาคม 2565, เวลา 14:41 น.

แห่พระรอบเมืองภูเก็ต ประจำปี 2564 ภาพ เอกภพ ทองทับ

แห่พระรอบเมืองภูเก็ต ประจำปี 2564 ภาพ เอกภพ ทองทับ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 65 ที่ห้องประชุม พระแทว ชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมการเตรียมการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2565 โดยมีนางจันทนา สิทธิพันธ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต,นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, นายสุธี ศิริอนันต์ จ่าจังหวัดภูเก็ต, นายประเสริฐ ฟักทองผล ประธานชมรมอ๊ามภูเก็ต -อันดามัน, ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประธานอ๊ามในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

นายอำนวย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เพื่อเป็นการเตรียมจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2565 ที่ทางจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับชมรมอ๊ามภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต และหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2565 จังหวัดภูเก็ต ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน- 4 ตุลาคม 2565โดยมีจุดประสงค์เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี อันดีงามที่เก่าแก่ของชาวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี โดยการละเว้น การเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต รักษาศีล สำรวมกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ถือเป็นการเจริญเมตตากรุณา นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว อีกทั้งประเพณีถือศีลกินผัก ยังได้รับประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่องการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2561 ประเภท รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลักษณะภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาลด้วย

ทางด้าน นางจันทนา ได้รายงานข้อมูลสรุปผลการหารือมาตรการป้องกันโรคติคเชื้อไวโคโรนา 2019 (COVID-19) ในการจัดกิจกรรมประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตประจำปี 2565 กำหนดมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (D-M-H-H-T-T-A) ได้แก่ D : Distancing เว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น M :Mask wearing สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H: Hand washing ถ้างมือบ่อยๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึง T :Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ ร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ A : Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" และ "หมอชนะ"

มาตรการด้านการป้องกันโรค

1. ให้แต่ละศาลเจ้าจัดพิธีการได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการ (D-M-H-H-T-T-A) อย่างเคร่งครัด
2. ม้าทรงทุกคนและพี่เลี้ยง รามทั้งผู้ปฏิบัติงานในศาลเจ้าทุกคน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และทำการตรวจ ATK (Antigen Test Kits) ทุก ๆ 3 วันโดยเริ่มทำการตรวจครั้งแรก 2 วันก่อนงานประเพณีถือศีลกินผัก ทั้งนี้หากพบว่าผู้ใดมีผลตรวจ ATK เป็นบวกให้ทำการกักตัวและเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล รวมไปถึงงดร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม โดยให้ผู้บริหารศาลเจ้าหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบและควบคุมกำกับกรณีดังกล่าว
3. ขอความร่วมมือม้าทรงให้งดการแสดงอภินิหารที่อาจก่อให้เกิดสารคัดหลั่งในปริมาณมาก
4. การคัดกรองอุณหภูมิให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของผู้บริหารศาลเจ้า ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และรักษาระยะห่างตามมาตรการ (D-M-H-T-T-A)
5. การลดจุดไหว้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นและกำหนดจุดปักรูปให้อยู่ภายนอกห้องที่มีอากาศถ่ายเท
6. ห้ามมิให้ร้านค้าจำหน่ายประทัด (ยกเว้นประหัดแพที่ได้รับอนุญาต) และห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงและเล่นประทัด ดอกไม้เพลิงอันตราย ตามประกาศของจังหวัดภูเก็ต
7. การจัดโรงครัวให้แต่ละศาลเจ้ากำหนดรูปแบบและพื้นที่ในการแจกจ่าย และรับประทานอาหารที่ลดความแออัดและสอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตให้คำแนะนำภายใต้การควบคุมกำกับของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ 8. การรวมกลุ่มกันของทุกกิจกรรม ให้มีการรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

มาตรการควบคุมโรค

1. กรณีพบผู้ติดเชื้อในบริเวณประกอบพิธีกรรม หรือโรงครัวหรือสถานที่ประกอบอาหาร หรือร้านค้าบริเวณศาลเจ้า ให้สถานพยาบาลในพื้นที่นำตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา และกักตัวผู้สัมผัส ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้น ให้ผู้ปฏิบัติงานชุดใหม่เข้าปฏิบัติงานต่อได้
2. ให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในศาลเจ้าสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A
3. กรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากให้อยู่ในดุลยพินิจของศาลเจ้า ในการพิจารณาปรับลดกิจกรรมหรือลดจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม

ในขณะที่ นายสุธี กล่าวถึงประเด็นการขออนุญาตการจุดพลุดอกไม้ไฟและประทัดว่า ห้ามมิให้ร้านค้าจำหน่ายประทัด (ยกเว้นประทัดแพที่ได้รับอนุญาต) และห้ามจุดพลุ ดอกไม้เพลิงและเล่นประทัด ดอกไม้เพลิงอันตราย ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตจะออกหนังสือและประกาศของจังหวัดภูเก็ต อย่างเป็นทางการไปยังศาลเจ้าและอ๊ามทุกแห่งอีกครั้ง

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติกำหนดให้มีการจัดพิธีส่งเก๊ง (สวดมนต์) ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 27 กันยายน 2565 ณ เวทีกลางสะพานหิน
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชนร่วมประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากประเพณีถือศีลกินผักเป็นพิธีกรรมแห่งความเชื่อและความศรัทธา ไม่ใช่การแสดง และยังเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดภูเก็ต และมรดกของชาติไทยอีกด้วย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่