ทช.ออกติดตามฉลามวาฬ ยังไม่ยืนยันว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่

ภูเก็ต – บ่ายวานนี้ (20 พ.ค. 61) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมเจ้าหน้าที่ผู้เดียวข้องออกลาดตระเวนตรวจสอบค้นหาฉลามวาฬ ที่ถูกเรือประมงจับขึ้นเรือ ก่อนที่จะปล่อยกลับลงทะเลในเวลาต่อมา หลังจากมีเรือนำเที่ยวขับผ่านมาเห็นเหตุการณ์และได้กดดันให้เรือประมงดังกล่าวปล่อยฉลามวาฬลงทะเล เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ภายหลังจากการร่วมค้นหาปรากฏว่ายังไม่พบวี่แววของฉลามวาฬ จึงยังชี้ชัดไม่ได้ว่าจะยังมีชีวิตหรือไม่

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 21 พฤษภาคม 2561, เวลา 09:38 น.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผอ.สบทช.9 พ.ต.ต.เอกชัย ศิริ สว.ตร.ทท.ภูเก็ต ร่วมลงเรือ ณ ท่าเทียบเรือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) เพื่อออกลาดตระเวนตรวจสอบค้นหาฉลามวาฬตัวดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งจากการออกลาดตระเวนทางเรือโดยใช้กล้องส่องทางไกล ประมาณ 6 ไมล์ทะเล และโดรนบินสำรวจ ปรากฏว่ายังไม่พบวี่แววของฉลามวาฬ จึงยังชี้ชัดไม่ได้ว่าจะยังมีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว

นายจตุพร กล่าวภายหลังออกลาดตระเวนว่า “สำหรับกรณีนี้ ในส่วนของคดีความ ทางนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นห่วงในสถานการณ์ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสานงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อดูแลทั้งในเรื่องของคดี และดูแลสัตว์ทะเลหายาก คือฉลามวาฬที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้ว่ายังอยู่หรือตายไปแล้ว ซึ่งจากการออกลาดตระเวนยังไม่พบวี่แววของฉลามวาฬแต่อย่างใด อีก 5 วันหลังจากนี้ถ้าหากยังหาไม่พบก็แสดงว่าฉลามวาฬอาจจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าโชคไม่ดีพบว่าฉลามวาฬเสียชีวิตซึ่งอาจจะลอยขึ้นมา เราก็จะนำมาผ่าพิสูจน์เพื่อสืบหาสาเหตุการตายต่อไป”

“ในแง่ของคดี จะดำเนินคดีกับทั้งเจ้าของเรือและไต๋ก๋งเรือหรือไม่ ต้องดูว่าทางกรมประมง กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งก็มีทั้งโทษจำและปรับ สำหรับการจะสืบถึงเจ้าของเรือหรือไม่ ก็คงต้องรอดูจากพยานหลักฐานต่าง ๆ แต่อย่างไรตาม คดีที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลหายากในครั้งนี้อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์ ขอให้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือในเรื่องของการดูแลสัตว์ทะเลหายาก อยากจะให้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุก ๆ คน เพราะพวกเขาเป็นสัตว์ของโลกไม่ใช่เฉพาะของไทย”

“อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณภาคประชาชน ที่ได้แจ้งเบาะแสทำให้ภาคราชการเข้ามาช่วยเหลือ ต้องเรียนว่า จริง ๆ แล้วภาคราชการหรือหน่วยงานของรัฐ พยายามที่จะดูแล แต่การดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง เนื่องจากว่า เรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องใช้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยกันดูแล” นายจตุพร กล่าว

ขณะเดียวกัน เรายังมีส่วนราชการที่ร่วมกันทำงานรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มอบให้ทางตำรวจท่องเที่ยวเข้ามาดูแล ในการช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงเรื่องของคดีความ และเรื่องการทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวด้วย ในส่วนของกรมประมง กรมเจ้าท่า ทางจังหวัดร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการที่จะเข้าไปดูแลคดีความต่างๆ เพราะทุกวันนี้การทำงานของภาครัฐ เราก็มุ่งเน้นเรื่องการบูรณาการทำให้ความคืบหน้าของคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรามาเฝ้าลาดตระเวนดูว่าฉลามวาฬจะยังอยู่หรือไม่ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเนื่องจากว่าตลอดปีที่ผ่านมา ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการรายงานว่า หนึ่งปีที่ผ่านมามีฉลามวาฬเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ไม่เกิน 100 ตัว โดยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ฝั่งอันดามันประมาณ 10 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพราะฉะนั้นทำอย่างไรก็ได้ในการช่วยกันดูแล

นายจตุพร กล่าวต่อไป ว่า ต้องยอมรับว่าเวลาเราพบซากสัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้นขึ้นมา ส่วนหนึ่งที่พบมากเกิดจากการประมง ซึ่งจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทราบว่าในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.) ทาง สบทช.9 จะมีการประชุมกับจังหวัดภูเก็ต จะมีการเสนอมาตรการต่างๆ เรื่องทำความเข้าใจกับประมง การกำหนดมาตรการที่ชัดเจน ตนคิดว่าถ้าคดีตรงนี้สิ้นสุดมีการกำหนดมาตรฐานที่มีโทษอย่างชัดเจน คิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับประมง ได้คำนึงและระลึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่