ทน.ภูเก็ต ติดตามการบริหารจัดการขยะส่วนเกินกว่า 500 ตันต่อวัน หลังปิดพื้นที่บ่อฝังกลบขยะบ่อที่ 3

ภูเก็ต - วันนี้ (18 พ.ย. 67) เวลา 11.00 น. นายศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ลงพื้นที่บ่อฝังกลบขยะบ่อที่ 4 และบ่อที่ 5 ติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการขยะส่วนเกินที่ส่งเข้ากำจัดยังเตาเผา มาฝังกลบยังพื้นที่บ่อที่ 4 และบ่อที่ 5 หลังปิดพื้นที่บ่อฝังกลบที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 18 พฤศจิกายน 2567, เวลา 17:00 น.

เพื่อป้องกันปัญหากลิ่นรบกวนต่อพื้นที่ชุมชนรอบข้าง โดยมี นายภาราดา เนียมสะอาด สมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักช่าง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ บ่อฝังกลบขยะ ศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมจังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม หลังจากทางศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมจังหวัดภูเก็ต ได้ทำการปิดพื้นที่บ่อฝังกลบที่ 3 แล้ว โดยให้รถบรรทุกขยะจากทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วน นำขยะไปยังบ่อฝังกลบที่ 4 และบ่อที่ 5 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำการปรับปรุงพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีขยะส่วนเกินถูกส่งเข้ามายังบ่อฝังกลบประมาณ 400 – 500 ตัน / วัน และคาดว่า จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

จากนั้น นายศุภโชค ได้ลงพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านสะพานหิน พบปะ และชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจรูปแบบการบริหารจัดการขยะของเทศบาลนครภูเก็ต

ต่อสัมปทาน “เตาเผาขยะ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 67 เทศบาลนครภูเก็ต ได้ทำการเซ็นสัญญามูลค่า 511 ล้านให้ “พีเจที เทคโนโลยี” ต่อสัญญาสัมปทานการบริหารเตาเผาขยะไปอีก 15 ปี เพื่อรองรับขยะทั่วเกาะที่มีมากกว่าพันตันต่อวัน

นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วม พิธีลงนาม “สัญญาให้สิทธิเอกชนบริหารโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชนขนาดไม่น้อยกว่า 300 ตัน/วัน เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต” ระหว่างเทศบาลนครภูเก็ต กับ นางสาว ตาน หวัง กรรมการผู้บริหาร บริษัท พี เจ ที เทคโนโลยี จำกัด เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมี นายเฉลิมพร ปิยณรงค์โรจน์ ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต นางสาวศจิธร ศิริพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายและกำกับดูแลกิจการ บริษัท พี เจ ที เทคโนโลยี จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 (ห้องใหญ่) สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต

นายสาโรจน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการลงนามในสัญญาฯ ว่า “ทุกวันนี้พื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต รับขยะจากทุกท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตมาอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตทั้งหมด ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะ เนื่องจากเตาเผาขยะเดิมผ่านการใช้งามานานกว่า 15 ปี เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ เริ่มมีปัญหาทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสัญญากับ บริษัท พี เจ ที เทคโนโลยี จำกัด เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนในเรื่องของการปรับปรุงระบบเตาเผาขยะ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ให้มีคุณภาพอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการกำจัดขยะ เพื่อแก้ปัญหาขยะของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณขยะเกินที่เตาเผาจะกำจัดได้ประมาณ 200- 300 ตัน/วัน รวมไปถึงขยะติดเชื้อด้วย ระหว่างรอให้เตาเผาขยะแห่งที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต่อสัญญาและให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการขยะ”

“สาเหตุที่เลือกบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้บริหารโรงเตาเผาขยะชุมชนต่อไปอีก 15 ปี เนื่องจากมีสัญญาเดิมอยู่ และมีพันธะสัญญาเดิมว่า หากบริษัทฯ ผ่านการประเมินในทุกเงื่อนไข เทศบาลนครภูเก็ตต้องให้สัญญากับบริษัทเดิมก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งบริษัทฯ ผ่านการประเมินทุกเงื่อนไข จึงเป็นที่มาของการต่อสัญญาต่อไปอีก 15 ปี ซึ่งการเข้ามาบริหารเตาเผาในครั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงระบบการทำงานของเตาเผาขยะใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเครื่องจักรมูลค่ามากกว่า 511 ล้านบาท” นายสาโรจน์ กล่าว

นอกจากนั้นแล้ว ทางบริษัทฯ ยังต้องมีการสนับสนุนตามรายละเอียดสัญญา เพื่อปรับปรุงเรื่องควบคุมมลพิษ และสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 46 ล้านบาท เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่เทศบาลนครภูเก็ต และยังมีเงินอีกจำนวน 25.7 ล้านบาท ที่ทางบริษัทฯ มอบให้ทางเทศบาลนครภูเก็ต เพื่อสนับสนุนงานด้านสาธารณประโยชน์ ซึ่งทางเทศบาลนครภูเก็ต มีแนวคิดจะนำไปสนับสนุน เพื่อดำเนินโครงการสนามฟุตบอลสะพานหินสเตเดียม ซึ่งทางสำนักช่างได้ดำเนินการออกแบบไปแล้วบางส่วน ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ตตั้งใจผลักดันให้เป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานระดับสากลอันดับต้น ๆ ของเอเชีย รองรับการแข่งขันในระดับนานาชาติและหนึ่งในนั้นคือ การทำลู่วิ่งจากเดิมให้เป็น 9 ลู่วิ่งตามมาตรฐานสากล และมีสนามฟุตบอลสนามหญ้าที่มีระบบระบายน้ำ ระบบแสงสว่างที่ได้มาตรฐาน สามารถรองรับการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ต เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐไปแล้ว 2 รอบ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงแบ่งเนื้องานของการก่อสร้างสนามสะพานหินสเตเดียมออกเป็นหลายงวดงาน จำเป็นต้องนำงบประมาณส่วนนี้ไปสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวในเฟสแรก เพื่อผลักดันให้สะพานหินเป็นศูนย์กลางการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในการประชุมสภาเทศบาลนครภูเก็ตต่อไป

ทางด้าน น.ส.ตาน หวัง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามฯ กล่าวว่า จากปัญหาเดิมเริ่มต้นที่มีขยะล้นเมืองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งการฝังกลบไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาขยะที่มีจำนวนมหาศาลมากขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นที่มาของโครงการเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น โดยเวลานั้นบริษัท พี เจ ทีฯ ชนะการแข่งขันการประกวดราคา และได้รับสิทธิสัมปทานให้สิทธิเอกชนก่อสร้าง และบริหารโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง โดยในช่วงแรกได้รับสิทธิสัมปทานเป็นเวลา 15 ปีแรก และเป็น 15 ปีแรกที่บริษัทฯ ได้พิสูจน์ให้ทุกท่านเห็นชัดเจนว่า บริษัท พี เจ ทีฯ โดยบริษัท ยูนนาน วอเตอร์ นั้นเป็นส่วนสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้ชาวภูเก็ตมาโดยตลอด บริษัทฯ ได้รับสิทธิต่อสัญญานี้ไปอีก 15 ปี ซึ่งถือเป็นโครงการเตาเผาขยะมูลฝอยผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้ต่ออายุสัญญาฯ สำเร็จ

กลิ่นขยะ

ในส่วนของการแก้ปัญหาขยะ โดยเฉพาะกลิ่นรบกวนของเทศบาลนครภูเก็ตในขณะนี้นั้น นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า สาเหตุของกลิ่นรบกวนไม่ใช่เกิดจากการบริหารจัดการของเตาเผาขยะทั้งหมด แต่มีบางครั้งที่บริษัทฯ หยุดทำการปรับปรุงเตาเผา แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักที่เกิดกลิ่นรบกวนมากจากบ่อฝังกลบขยะเต็มพื้นที่ เนื่องจากมีขยะจากทุกท้องถิ่นส่งเข้ามายังศูนย์กำจัดมูลฝอยรวมเป็นจำนวนมากถึงวันล่ะกว่า 1,100 ตัน / วัน แต่นำเข้ากำจัดในเตาเผาได้เพียง 700 ตัน / วัน เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าไปยังบ่อฝังกลบประมาณวันล่ะ 200-300 ตัน / วัน ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง คาดว่า จะมีปริมาณขยะมากถึง 1,500-1,800 ตัน / วัน อย่างแน่นอน การบริหารจัดการขยะที่มากขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มากของเทศบาลนครภูเก็ต

คัดแยกขยะ

และเพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะส่งเข้ามากำจัดยังศูนย์กำจัดมูลฝอยรวม นายกฯ ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือน ซึ่งหากลดปริมาณขยะได้ ก็จะช่วยลดงบประมาณในการบริหารจัดการขยะในแต่ล่ะปีได้ด้วย และงบประมาณส่วนนี้สามารถนำไปพัฒนาเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ได้ซึ่งประชาชนทุกคนมีความสำคัญ มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการขยะ เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งเทศบาลนครภูเก็ต มองการแก้ปัญหาขยะในระยะยาวเป็น 10 ปี

“ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องบ่อฝังกลบขยะนั้น ขณะนี้เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดระนอง 35 ล้านบาท เทศบาลนครภูเก็ตสนับเพิ่มอีก 5 ล้านบาท รวมเป็น 40 ล้านบาท ดำเนินการรื้อร่อนบ่อฝังกลบขยะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ฝังกลบให้สามารถรองรับปริมาณขยะได้จนกว่า การก่อสร้างเตาเผาขยะแห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระบบการกำจัดขยะสามารถทำได้มากกว่า 1,000 ตัน/วัน อย่างแน่นอน” นายสาโรจน์ ยืนยันพร้อมเน้นย้ำว่า นอกจากการกำจัดขยะมูลฝอยทั่วไปแล้ว เทศบาลนครภูเก็ต ยังมีการกำจัดขยะติดเชื้อด้วย และระบบเตาเผาที่ได้มาตรฐานจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่า การกำจัดขยะติดเชื้อมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน







 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่