ที่ปรึกษา ทช. ลงพื้นที่หาดสุรินทร์ ย้ำโครงการสร้างเขื่อนคือการทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง

ภูเก็ต – วันนี้ (16 พ.ย. 60) เวลา 15.00 น. นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสุทา ประทีป ณ ถลาง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต และชาวบ้านหาดสุรินทร์ เดินสำรวจบริเวณชายหาดที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน 2560, เวลา 18:22 น.

ภายหลังจากเหตุการณ์ที่มีชาวบ้านหลายสิบรายรวมตัวกันที่หาดสุรินทร์ทวงถามข้อมูลการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเหตุให้โครงการดังกล่าวได้ถูกสั่งระงับเป็นการชั่วคราวจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต (อ่านเพิ่มเติม คลิก

“กรมโยธาและผังเมืองมีความรู้ที่ผิดมาตลอด เห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ กระทั่งลามมาทำโครงการที่นี่ คิดว่าการพัฒนาบริเวณหาดคือการไปสร้างโครงสร้าง อ้างการกัดเซาะเพื่อต้องการปรับภูมิทัศน์ โดยทำการสำรวจหาพื้นที่กัดเซาะเพื่อที่จะเอาโครงการลง ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดที่คิดว่าภาพของลมมรสุมแรงทำให้เกิดมีการกัดเซาะ ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว” นายศศิน กล่าว

“เจ้าหน้าที่ของกรมโยธาเข้าใจแบบนั้นมาตลอดว่าชายหาดโดนกัดเซาะ แต่พอเรามีนักวิชาการซึ่งเป็นนักธรณีวิทยา ของกรมทช. ทุกคนมาดูก็ลงความเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติของมัน ไม่ได้มีการกัดเซาะแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ นายศศินได้ยกหาดสุรินทร์ให้เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ชายหาดที่น่าสนใจ

“เมื่อต้นปีผมมาสำรวจไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองและก็พบว่าหาดสุรินทร์ในวันนี้เป็นหาดที่มีการจัดแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่น่าสนใจ คือมีการเว้นบัฟเฟอร์โซนซึ่งเป็นธรณีสันฐานของเนินทรายชายฝั่ง หรือเรียกอีกอย่างว่าแซนดูน ที่ปัจจุบันมีระบบนิเวศน์ มีต้นไม้ มีการเว้นเอาไว้ แต่ที่หาดอื่นแทบจะสร้างไปทับเนินทรายจนหมด ที่นี่มีการก่อสร้างหลังเนินทราย ถือเป็นหาดที่ตัวอย่างของการพัฒนาชายหาดที่ถูกต้อง อยากให้กรมมาดูแบบของที่นี่และไม่ควรทำการพัฒนาแบบผิดๆ อีกต่อไป” นายศศินกล่าว

นอกจากนี้นายศศินเสนอแนะการผันงบประมาณการก่อสร้างเขื่อนไปใช้ในการปรับภูมิทัศน์บริเวณด้านหลังเนินทราย รวมทั้งการก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะเพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยว

คณะที่ปรึกษา ทช. ยืนยันว่าโครงการสร้างเขื่อนคือการทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรง ทั้งนี้ภายหลังจากการเดินสำรวจพื้นที่ นายศศิน ได้ย้ำชัดว่าโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์นั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งอย่างที่ทางเจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กล่าวอ้างแต่อย่างใด พร้อมเตรียมรายงานกรม ทช. เพื่อส่งเรื่องถึงนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการสั่งระงับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างถาวร

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีทางเลือกหลายทาง หนึ่งคือทันทีที่กลับไปผมจะรายงานและแนะนำให้ท่านอธิบดีกรมฯ ซึ่งท่านสามารถใช้อำนาจตามพรบ.ชายฝั่ง มาตรา17 ว่ามีโครงการที่ทำลายทรัพยากรชายฝั่งอย่างรุนแรงแล้วก็สั่งยับยั้งเลย ส่วนทางเลือกที่สองคือใช้อำนาจทางการบริหาร โดยการประสานงานกับท่านผู้ว่าฯ และกรมโยธาธิการให้ปรับงบประมาณไปพัฒนาอย่างอื่น ซึ่งผมคิดว่าทางกรมทช.จะใช้วิธีหลัง” นายศศิน กล่าว

นอกจากนี้ นายสุทา ได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องการทบทวนโครงการดังกล่าวว่า ทางกรมทช. โดยนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปฏิบัติการแทนอธิบดีกรมฯ ได้มีจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 28 พ.ย. 2559 และ วันที่ 13 ม.ค. 2560 เรื่อง ขอให้ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่ชายฝั่งหาดสุรินทร์

“ทราบมาว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีจดหมายสั่งให้ทบทวนโครงการดังกล่าวแล้ว แต่ภายหลังจากมีข่าวการก่อสร้างออกมา ทาง ทช.ก็ควรจะมีจดหมายถึงท่านผู้ว่าฯ และ สำนักงานโยธาฯอีกครั้ง ทราบมาว่าท่านผู้ว่าฯ เพิ่งย้ายมา อาจจะยังไม่เห็นจดหมายฉบับก่อนหน้าที่ที่ได้มีการให้ทบทวนโครงการดังกล่าว” นายศศิน กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่