ประชุมจุดกลับรถแยกหยี่เต้งครั้งที่ 2 เลือกทางกลับรถพื้นราบ ไม่เอาแบบสะพาน

ภูเก็ต - แขวงทางหลวงภูเก็ตจัดประชุม เพื่อหารือรูปแบบโครงการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ ทางหลวงหมายเลข 402 ตอน หมากปรก-เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตที่ กม.39 + 810.400 (แยกบ้านหยี่เต้ง) เพื่อคัดเลือก รูปแบบจุดกลับรถที่เหมาะสมของโครงการ และตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 12 มกราคม 2562, เวลา 10:27 น.

ภาพ ส.ปชส.ภูเก็ต

ภาพ ส.ปชส.ภูเก็ต

วานนี้ (11 ม.ค. 62) ที่ห้องประชุมแคแสด มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายกองโท อดุลย์ ชูทอง นายอำเภอถลาง เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อหารือรูปแบบโครงการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับ ทางหลวงหมายเลข 402 ตอน หมากปรก-เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตที่กม. 39 + 810.400 (แยกบ้านหยี่เต้ง) โดยมีส่วนราชการผู้นำท้องถิ่นผู้นำชุมชนและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการก่อสร้างโครงการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายอำเภอถลาง กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อต้องการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในถนนสาย 402 ถนนเทพกระษัตรี ซึ่งเป็นถนนสายหลักซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว ดังนั้นสิ่งสำคัญของการก่อสร้างโครงการนี้ คือเนื่องจากในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างดังกล่าวจะอยู่ใกล้เคียงกับโบราณสถานและสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นการก่อสร้างจึงต้องมีความระมัดระวังและมีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อแสดงความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จโดยเร็ว และทุกภาคส่วนมีความพึงพอใจอย่างสูงสุด

นายพิจักษณ์ ศรชนะ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงภูเก็ต กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วยบริษัทคอนซัลแทนท์ออฟเทคโนโลยีจำกัด และ บริษัทซิตี้แพลนโปรเฟสชั่นแนลจำกัด ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างสะพานกลับรถต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 402 ตอน หมากปรก-เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตที่ กม.39 + 810.400 ซึ่งกรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนอันจะเอื้อประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานศึกษาของโครงการ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อหารือรูปแบบโครงการในครั้งนี้ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม

โดยการประชุมได้มีการนำเสนอรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการจำนวน 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 คือ รูปแบบสะพานกลับรถ ทั้งนี้สะพานกลับรถแต่ละสะพาน จะเป็นสะพานขนาด 1 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจร 4 ถึง 6 เมตรไหล่ทางฝั่งซ้ายกว้าง 1.50 เมตร และฝั่งขวากว้าง 0.50 เมตร รวมความกว้างของโครงสร้างสะพาน 6-8 เมตร วัดจากหน้าราวกันตกทั้งสองฝั่ง โดยโครงสร้างส่วนที่บรรจุกับทางหลวงหมายเลข 402 จะเป็นโครงสร้างขนาด 1 ช่องจราจรกว้าง 4 เมตร ไหล่ทางฝั่งซ้ายกว้าง 1.50 และความกว้าง 0.50 เมตร รูปแบบโครงสร้างสะพานเป็นสะพานแบบคานรูปตัวไอยาว 315.282 เมตร สำหรับสะพานทิศทางเข้าเมือง(ระยะที่ 1 ) และยาว 299.292 เมตร สำหรับสะพานทิศทางออกเมือง(ระยะที่ 2)

ในการก่อสร้างสะพานกลับรถได้กำหนดให้มีการปรับปรุงถนนระดับดินโดยการเพิ่มช่องจราจรด้านซ้ายชิดเขตทางผิวทางลาดยางกว้าง 4.70 ถึง 5.20 เมตรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเข้าออกพื้นที่ 2 ข้างทางช่วงสะพานและเพียงพอสำหรับกรณีรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุให้รถสามารถแซงไปได้โดยไม่เกิดการติดขัดเมื่อสะพานกลับรถลดระดับลงสู่ระดับถนนเดิมแล้วช่องจราจรฝั่งซ้ายจะบรรจบกับถนนเดิมทั้งนี้จากรูปแบบดังกล่าวจำเป็นต้องขยายเขตทางหลวงเดิมจาก 40 เมตรเป็น 60 เมตรโดยขยายออกฝั่งละ 10 เมตร(ขยายเขตทางฝั่งซ้ายตั้งแต่ กม.39 + 460 ถึง กม. 40 + 140 และขยายเขตทางฝั่งขวาตั้งแต่ กม.39 + 470.900 ถึงกม. 40+ 180) เพื่อให้มี ที่ว่างเพียงพอต่องานก่อสร้างสะพานกลับรถและช่องจราจรข้างสะพาน

รูปแบบที่ 2 คือรูปแบบทางกลับรถระดับพื้นราบ โดยช่องทางกลับรถอยู่ช่องขวาสุด โดยแยกออกจากช่องทางสำหรับรถทางตรงด้วยเกาะแยก เพื่อความต่อเนื่องและเพิ่มความปลอดภัยสำหรับรถทางตรงจะมี 3 ช่องทางและกำหนดให้เบี่ยงในออกไปด้านข้างช่องทางกลับรถจะมีขนาดกว้าง 3.5 - 11.0 เมตร โดยกำหนดให้รัศมีด้านใน 5 เมตร รัศมีด้านนอก 15 เมตร ซึ่งสามารถรองรับการกลับรถของรถบรรทุกกึ่งพ่วง(Semi Trailer) รูปแบบนี้จะต้อง ขยายเขตทางหลวงเดิมออกมากกว่ารูปแบบสะพานกลับรถรวมพื้นที่ต้องเวียนคืนเพิ่มเติมจากรูปแบบสะพานกลับรถ 2.11 ไร่ โดยมีพื้นที่ที่ต้องเวนคืนเพิ่มเติมจากเขตทางเดิมรวมทั้งสิ้น 10.79 ไร่ จากเขตทางเดิมและพื้นที่เฉพาะช่วงที่เป็นจุดกลับรถจะกว้างกว่ารูปแบบสะพานกลับรถคือที่ประมาณช่วง กม.39 + 600 ถึง กม.39 + 980 ฝั่งซ้ายทางและช่วง กม.39 + 628.900 ถึง กม.39 + 922.500 ฝั่งขวาทาง ซึ่งรูปแบบสะพานกลับรถ จะต้องเพิ่มพื้นที่ฝั่งละ 30 เมตร จากกึ่งกลางทางแต่รูปแบบทางกลับรถระดับดินจะต้องใช้พื้นที่ฝั่งละ 35 เมตรจากกึ่งกลางทาง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มีการแสดงความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยได้นำผลจากการประชุมในครั้งที่ 1 มานำเสนอ ต่อที่ประชุม ในส่วนของคณะวิศวกรและประชาชนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งที่ 1 ได้มีความคิดเห็นคัดเลือกรูปแบบจุดกลับรถที่เหมาะสมของโครงการ โดยได้พิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสมของรูปแบบจุดกลับรถ ตามข้อได้เปรียบเสียเปรียบข้างต้น รวมถึงการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อหารือแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาประกอบการคัดเลือกรูปแบบจุดกลับรถสรุปได้ว่า รูปแบบการกลับรถระดับพื้นราบมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบกว่ารูปแบบสะพานกลับรถในปัจจัยผลกระทบต่อการจราจรระหว่างก่อสร้างน้อยกว่า ไม่จำเป็นต้องมีการขนย้ายวัสดุชิ้นส่วนโครงสร้าง มีระยะเวลาที่ใช้ก่อสร้างน้อยกว่า ราคาค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารูปแบบสะพานกลับรถ รวมถึงไม่มีเกิดผลกระทบในด้านการบดบังทัศนียภาพส่งผลให้รูปแบบทางกลับรถระดับพื้นราบมีความเหมาะสมสำหรับการพัฒนาโครงการต่อไป

สำหรับการประชุมในครั้งที่ 2 นี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการสรุปผลการประชุม จะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ เพื่อนำไปสรุปเป็นข้อมูลเพื่อนำไปสู่การคัดเลือก รูปแบบจุดกลับรถที่เหมาะสมของโครงการและตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และจะได้นำข้อมูลมาเสนอต่อทุกท่านอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

โดยโครงการยังคงเปิดให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นในการก่อสร้างโครงการต่างๆได้ผ่านกลุ่ม LINE สะพานกลับรถบ้านหยี่เต้ง, Facebook ของโครงการสะพานกลับรถบ้านหยี่เต้ง และ www.U-TURN 402.com

- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่