ปรับกฎหมายเมาแล้วขับ เยาวชนต่ำกว่า 20 ปี แอลกอฮอล์เกินกว่า 20 มก. จับแน่!

ภูเก็ต - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2560, เวลา 18:02 น.

ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

ซึ่งออกกฎกระทรวงไว้ดังนี้ กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ผู้ขับขี่ในกรณี ต่อไปนี้ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คือ ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์, ผู้ขับขี่ซึ่งไดรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์, ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สําหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ และ ผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ด้าน พ.ต.อ.วิฑูรย์ กองสุดใจ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ยืนยันว่าทางจังหวัดภูเก็ต ได้กวดขันกรณีเมาแล้วขับมาอย่างต่อเนื่องและในกฎกระทรวงใหม่นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบแล้ว และจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อไป

“ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับนั้น ทางท่าน พล.ต.ต. ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ได้มีนโยบายชัดเจนว่าให้บังคับใช้กฎหมายเต็มที่ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ได้มีการกวดขันเรื่องนี้อย่างเข้มข้นมาโดยตลอด เรามีการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกคืน เพราะฉะนั้นหากผู้ใดละเมิดกฎหมาย เราก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย” พ.ต.อ.วิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังได้ให้หมายเหตุในการประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ว่า การขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทําให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยหรือมีประสบการณ์ในการขับขี่ไม่เพียงพอ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงเล็กน้อยก็มีผลทําให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะลดลงได้ สมควรกําหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้เหมาะสําหรับผู้ขับขี่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อธิบายถึง มาตรา 29 ได้กำหนดอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ 20 ปีบริบูรณ์ ด้วยเหตุผลใด

1. อายุ 20ปีบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งถือเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะที่มี ความสามารถกระทำนิติกรรมใดๆได้
2. เป็นการสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ตามมาตรา 16/1 ที่ห้ามผู้ได้รับอนุญาตตั้งสถานบริการยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เข้าไป ในสถานบริการในระหว่างทำการนั้น
3. สามารถควบคุมเยาวชนที่ยังอยู่ในวัยกำลังศึกษาได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
4. ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ. 2546 มาตรา 26(10) มีการห้ามมิให้ ผู้ใดจำหน่ายแลกเปลี่ยนหรือให้สุราแก่เด็กไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ เป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และถ้ามีกฎหมายอื่นที่มีโทษหนักกว่าก็ให้ลงโทษ ตามกฎหมายนั้น รวมทั้งยังมีมาตรา 45 ที่ห้ามมิให้เด็กซื้อหรือเสพสุรา หรือเข้าไปในสถานที่เฉพาะเพื่อการจำหน่ายหรือเสพสุรา หากฝ่าฝืนจะถูกเรียกผู้ปกครองมาตักเตือน ทำทัณฑ์บนต้องทำงานบริการสังคมและอาจมีการวางข้อกำหนดอื่นใดเพื่อป้องกันมิให้เด็กกระทำความผิดขึ้นอีก หากผู้ปกครองยังละเลยปล่อยให้เด็กกระทำความผิดอีก จะถูกทำทัณฑ์บนและวางประกันเป็นเงินตามสมควรแก่ฐานะของผู้ปกครอง หากทำผิดทัณฑ์บนใน 2 ปีจะถูกริบเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเด็ก(มาตรา 26, 39 และ 44) (เด็ก หมายความว่าบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส) ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมี ผลใช้บังคับอยู่ ณ ปัจจุบัน

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่