ผอ.วชิระเคลียร์ข้อกล่าวหา หมอภูเก็ตโร่แจ้งความร้องเรียนบกพร่อง “ป้องกันโควิด-19”

ภูเก็ต – วันนี้ (3 มี.ค.) เวลา 13.00 น. นายแพทย์ เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ชี้แจงข้อกล่าวหาในประเด็น หมอภูเก็ตแจ้งความเอาผิด ผอ.และรอง ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการป้องกันโรคโควิด – 19 โดยมี นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ นายแพทย์ ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมฉัตรฟ้า ชั้น 6 อาคารบ้านคุณพุ่ม รพ.วชิระภูเก็ต

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 3 มีนาคม 2563, เวลา 17:45 น.

ผอ.วชิระเคลียร์ข้อกล่าวหา หมอภูเก็ตโร่แจ้งความร้องเรียนบกพร่อง “ป้องกันโควิด-19” ภาพ เอกภพ ทองทับ

ผอ.วชิระเคลียร์ข้อกล่าวหา หมอภูเก็ตโร่แจ้งความร้องเรียนบกพร่อง “ป้องกันโควิด-19” ภาพ เอกภพ ทองทับ

นพ.เฉลิมพงษ์ เปิดการแถลงข่าวด้วยการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน เนื่องจากประเด็นที่มีการแจ้งความเอาผิดตนและ รอง ผอ. ในข้อกล่าวหาทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยก่อนที่จะมีการชี้แจงเป็นรายประเด็นนั้น ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ยืนยันว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของ สธ.ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีการประสานงานกับทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

“ในเรื่องของการบริหารจัดการตั้งแต่แต่ระดับกระทรวงฯ, เขตสุขภาพที่ 11, จังหวัด จนถึงรพ.วชิระภูเก็ต มีระดับของการดูแล เฝ้าระวัง และการรักษาแตกต่างกันไป ซึ่งภารกิจการรักษาเป็นของ รพ.วชิระภูเก็ต โดยมีผมเป็นดูแลผู้บังคับบัญชาสั่งการในส่วนนี้ ซึ่งในส่วนของรพ.วชิระภูเก็ต เขตสุขภาพที่ 11 ตั้งให้ผมเป็นประธานกลุ่มภารกิจด้านการรักษาเขตสุขภาพที่ 11 เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็แล้วแต่ที่เกิดประโยชน์และดีที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต ผมคิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว จนกระทั่งได้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในเขตฯ 11 ขอให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนให้ความไว้วางใจ และมั่นใจว่ารพ.วชิระภูเก็ต ทำทุกเรื่องอย่างเต็มที่แล้ว” นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว

สำหรับข้อกล่าวหาที่มีการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีหมอภูเก็ตแจ้งความที่สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อเอาผิด ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่สาธารณชน

โดยก่อนหน้านั้นได้มีการส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้ว่าราชราชการจังหวัดภูเก็ต รวมถึงส่งจดหมายร้องเรียนดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้มีการออกมาตรการด่วน เพื่อดำเนินการแยกโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับโรคโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งยกตัวอย่างโรงพยาบาลในต่างประเทศ ที่ได้มีการแยกผู้ป่วยโควิดออกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ 6 ประเด็น ดังนี้

1.ยับยั้งขัดขวางข้อเสนอที่จะให้แยกโรงพยาบาล เพื่อรับรักษาโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงโควิด-19 โดยเฉพาะ, 2.ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องติดต่อกับผู้ป่วยทุกจุด, 3.มีการนำผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยที่ต้องใช้ห้องแยกจากโรงพยาบาล เอกชนมานอนในห้องแยกใน ICU อายุรกรรมรวม ซึ่งมีการใช้เคาน์เตอร์พยาบาลร่วมกัน แอร์ในห้องร่วมกัน, 4.มีการนำผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยแต่ไม่ได้ทำการวินิจฉัยให้ถึงที่สุดไปนอนตามตึกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จนต้องขยายตึกรับโดยไม่มีมาตรการป้องกันเต็มที่, 5.ไม่มีการตรวจว่าเจ้าหน้าที่มีการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดร้ายแรงในโรงพยาบาลและชุมชน และ 6.ไม่มีการเตรียมสถานที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินแยกจากผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน จะรับผู้ป่วยรวมกันในสถานที่เดียวกันอันเป็นเหตุให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจำนวนมากได้

“สำหรับในประเด็นที่มีการแจ้งความ ผมเข้าใจว่าคุณหมอทั้งสองท่าน (1 ใน 2 คนทำงานใน รพ.วชิระภูเก็ต) ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม แยกเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่ 1 คงจะเป็นความหวังดี คืออยากให้มีการแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกไปจากรพ.วชิระภูเก็ต ไปสถานที่แห่งใหม่รักษาโควิค -19 เพื่อให้คุณหมอและพยาบาลที่ รพ.วชิระภูเก็ตได้รักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และไม่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคโควิค -19 และได้มีการนำเสนอไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต” นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว

หลังทราบเรื่อง นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกแพทย์ที่เกี่ยวข้องเข้าพบในวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา

“ท่านผู้ว่าฯได้เรียกคุณหมอที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยในประเด็นที่คุณหมอเสนอให้โรงพยาบาลแห่งใหม่เป็นที่ใช้ควบคุมโรค เป็นรพ.อบจ และรพ.ถลาง ว่าเหมะสมหรือไม และเป็นไปได้หรือไม่ หลังจากได้มีการปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปตรงกันว่า ในภาวะที่เกิดโรคระบาดซึ่งทางรัฐบาลประกาศว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายนั้น ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยต้องใช้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพเต็มที่นั้นก็คือรพ.วชิระภูเก็ต” นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว

โดยให้เหตุผลว่า รพ.วชิระภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพ และความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีห้องแยกโรคและทีมดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงห้องแยกโรคความดันลบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในขณะนี้รพ.วชิระภูเก็ตมีการเตรียมห้องแยกโรคในระยะที่ 2 ไว้จำนวน 31 ห้อง รวมถึงที่ รพ.ถลาง และ รพ.ป่าตองอีกแห่ง 7 ห้อง และหากในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะส่งตัวไปรักษาที่ ห้องแยกโรคความดันลบICU อายุรกรรม

สำหรับผู้ป่วยที่เคยเข้าใช้ห้องแยกโรคความดันลบ นพ.เฉลิมพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีคนไข้ชาวจีนเพียงรายเดียวที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อมาผลตรวจออกมาเป็นลบ (ซึ่งเป็นการตอบในประเด็นร้องเรียนที่ 3) ส่วนผู้เฝ้าระวังรายอื่นให้อยู่ในห้องแยกโรคที่เตรียมไว้ภายในตึกรัตนโกสิน 200 ปี

“ในระยะแรกผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นชาวจีน ระยะนี้จะมีคนไทยเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเราต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ ใช้ห้องที่มีประสิทธิภาพ ในเรื่องของการแยกโรคได้ตามมาตรฐาน ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่มีพอเพียง มีคุณหมอที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะ เราจึงได้สรุปกับท่านผู้ว่าราชการว่า เป็นภารกิจของ รพ.ศูนย์วชิระภูเก็ต” นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกจังหวัดมีแนวทางปฏิบัติเดียวกันคือ ให้โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดในการเป็นแม่ข่ายเฝ้าระวังผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ และในปัจจุบันรพ.วชิระภูเก็ตก็ยังคงดูแลได้ตามมาตรฐาน และยังไม่จำเป็นต้องใช้ห้องแยกโรคที่สำรองไว้ในรพ.ป่าตองและถลาง

นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวอีกว่า ทางผู้ยื่นหนังสืออาจไม่พอใจที่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ว่าฯ และไม่เป็นไปตามต้องการในข้อเสนอแนะให้ย้ายคนไข้เฝ้าระวังทั้งหมดไปยังรพ.ถลาง “ทางเราประมวลแล้วว่าหากย้ายไป ก็จะกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่รพ.ถลางอยู่ดี และพี่น้องประชาชนที่อยู่ที่ถลางจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่สำคัญในการแจ้งความ สำหรับในอีก 5 ประเด็นถัดมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง”

ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ยืนยันว่า ทางรพ.ดำเนินการตามมาตรฐานสธ.โดยจะมีการกักตัวในรายที่มีไข้ด้วยมาตรการในการป้องกันสูงสุดตามระดับความเสี่ยง (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังทุกรายเป็นไปตามมาตรฐานสธ. โดยไม่มีการสัมผัสกับบุคคลหรือสิ่งอื่นใด ในกรณีขนย้ายจากห้องเก็บเชื้อ หรือการนำส่งจากภายนอกเข้ามายังรพ.ในรายที่ยืนยันจากแพทย์ว่าเข้าข่ายเฝ้าระวัง พร้อมทั้งมีการเปิดศูนย์บริการคัดกรอง ให้คำปรึกษา และรักษา ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แก่ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีไข้สูง มีอาการทางระบบหายใจ เพื่อลดภาวะตื่นกลัวของพี่น้องประชาชน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) แต่คงไม่สามารถทำการตรวจบุคลากรของโรงพยาบาลหมดทั้ง 2,500 คนได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนขของการดำเนินการกับแพทย์ที่ส่งหนังสือร้องเรียนและแจ้งความในประเด็น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการป้องกันโรคโควิด – 19 นั้น นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เนื่องจากการสร้างขวัญกำลังใจแก่ หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของทางโรงพยาบาลที่ตั้งใจทำงานอย่างหนัก และการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวสำคัญยิ่งกว่า

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่