ผู้บัญชาทร.3 จัดที่พักพิงชั่วคราวให้ลูกเรืออินโด-ฟิลิปปินส์ ย้ำช่วยเหลือเต็มที่

ผบ.ทร.3 จัดที่พักชั่วคราวรองรับลูกเรือประมงเหยื่อแก๊งปลอมสัญชาติเรือ ย้ำ ตั้งเป้าปลดล็อคใบเหลืองเม.ย.นี้ให้ได้

เปรมกมล เกษรา

วันพฤหัสบดี ที่ 5 มกราคม 2560, เวลา 15:26 น.

วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาที่อาคารรับรอง ทร. 3 ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พลเรือโท สุรพล คุปตะพันธ์  ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ผบ.ทรภ.3) ในฐานะผู้อำนวยการษูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ผอ.ศรชล เขต3) กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 22 พย. 2559 ได้ตรวจสอบเรือประมงต่างประเทศที่อ้างสัญชาติโบลิเวียเพื่อเข้าจอดที่ท่าเรือศรีไทย และท่าเรือประมงภูเก็ต ว่าจะมีการกระทำผิดกฏหมาย IUU Fishing หรือกฏหมายอื่นๆของประเทศไทยรวมทั้งการสวมทะเบียนเรือหรือไม่ ดังนั้น ศรชล. เขต 3 จึงได้ทำการเข้าตรวจสอบเรือประมงที่อ้างสัญชาติโบลิเวียทั้งหมด 9 ลำที่แจ้งทางการไทยว่าจะเข้าจอด ได้แก่เรือ Yutuna No.1 เรือ Yutuna No.3, เรือ Abundant 1, เรือ Abundant 3, เรือ Abundant 6, เรือ Abundant 9, เรือ Abundant 2, เรือ Shun Lai และเรือ Sheng Ji Qun 3 จากการตรวจสอบพบว่ามีเรือเข้าจอดอยู่ที่ท่าเรือ 7 ลำ ส่วนอีกสองลำ คือ Yutuna No.1 แจ้งประสงค์จะเข้าจอด แต่ไม่ได้จอด และเรือ Sheng Ji Qun 3 ได้นำเรือเข้ามาจอดแต่ออกเรือไปแล้วก่อนเมื่อวันที่ 15 พย. 2559 เรือทั้งหมดเป็นเรือประมงเบ็ดทูน่า ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กัปตันเรือส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวัน พบความผิดของเรือ Shun Lai และ เรือ Abundant 9 ที่ไม่รายงานเข้ามาต่อเจ้าหน้าที่ท่าภายใน 24  ชั่วโมง ซึ่งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดแล้ว ลำละ 5,000 บาท
 
จากการตรวจสอบเรือนั้น พบว่ามีพิรุธเกี่ยวกับทะเบียนเรือที่ระบุว่าเรือเป็นเรือสัญชาติโบลิเวีย จึงยังไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยังพบว่าเรือแต่ละลำมีลักษณะเอกสารที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ศรชล เขต 3 จึงให้สนง.เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ดำเนินการประสานและตรวจสอบไปยังทางการของประเทศโบลิเวีย ต่อมา นาย Javier Delgado เจ้าหน้าที่ทะเบียนเรือของทางการโบลิเวียได้แจ้งให้ทราบว่าเรือประมงทั้ง 9 ลำนั้นไม่ได้จดสัญชาติโบลิเวียและไม่ได้มีใบอนุญาติทำการประมงของโบลิเวียแต่อย่างใด อีกทั้งประเทศโบลิเวียเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้และไม่ได้มีเขตพื้นที่ติดทะเล ดังนั้นสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตจึงได้รวบรวมหลักฐานและแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนเจ้าของเรือจำนวน 3 ราย ประกอบด้วยบริษัทเซี่ยงเฮา จำกัด (Xiang Hao Co.Ltd) บริษัท ยี้หงส์ ฟิชเชอรี่ จำกัด (Yihong Co. Ltd.) และบริษัท ซ่วน หยิง จำกัด (Suanying Co.Ltd) โดยได้แจ้งความที่สภ.วิชิต ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต โดยแจ้งความอันเป็นเท็จ สำหรับเรือทั้งหมด 7 ลำ จำได้รับอนุญาตดำเนินการออกจากท่าเรือได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของเรือมีการนำเอกสารที่ถูกต้องที่ระบุสัญชาติและประเทศที่จดทะเบียนมายืนยัน ปัจจุบันนี้เรือดังกล่าวเปรียบเสมือนเรือไร้สัญชาติ
 
ทั้งนี้ ศปมผ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าลูกเรือประมงจากเรือทั้ง 7 ลำนั้นมิใช่ผู้ที่กระทำความผิด จึงได้พิจารณาเห็นชอบให้การช่วยเหลือลูกเรือให้เป็นไปตามมนุษยธรรม ในระหว่างการสอบปากคำหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่และจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานสอบสวน อีกทั้งลูกเรือทั้งหมดจะได้ถูกกันไว้เพื่อเป็นพยานในการสืบสวนคดี จึงได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆให้อำนวยความสะดวกแก่ลูกเรือ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารและสิ่งอุปโภคบริโภคตามความจำเป็น ศรชล.เขต 3และทร.3 ได้ดำเนินการจัดอาคารที่พักบนฝั่งของทร.3 เป็นการชั่วคราวซึ่งมีสภาพความเป้นอยู่ที่สะดวกสบายตามความสมควรและได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพร่างกายและรักษาพยาบาลหากพบว่ามีผู้เจ็บป่วย
 
โดยวานนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทหารเรือได้นำลูกเรือทั้ง 10 คน ประกอบไปด้วยลูกเรือสัญชาติอินโดนีเซีย 9 คนและสัญชาติฟิลิปปินส์ 1 คน จากที่พักเดิมที่มิตรไมตรีมายังอาคารรับรอง ทร. 3 ลักษณะที่พักเป็นห้องพักที่ประกอบไปด้วยเตียงนอน 4 เตียง เครื่องอำนวยความสะดวกครบครันพร้อมด้วยเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ พลเรือโท สุรพล คุปตะพันธ์  ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 (ผบ.ทรภ.3) ได้มอบผ้าละหมาดให้ลูกเรืออินโดนีเซียคนละ 1 ผืนเนื่องจากลูกเรือนับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังมอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นม กาแฟ และสิ่งอุปโภคบริโภคอื่นๆตามความจำเป็นเพื่อใช้ในระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป
 
พลเรือตรีวรรณพล กล่อมแก้ว กล่าวว่า ทางการไทยกำลังพยายามเพิ่มมาตรการการเข้มงวดและกวดขันเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติและเพื่อปลดล็อคใบเหลืองให้ได้ภายในเดือนเมษายน 2560 ทั้งนี้ ลูกเรือทั้ง 10 คนนี้ไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือนักโทษ ดังนั้นทางการไทยจึงมอบความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ให้เป็นไปตามมนุษยธรรมที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเป็นห่วง พร้อมทั้งจะช่วยติดตามเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องได้รับจากนายจ้าง จากการสอบถามจากลูกเรือ พบว่าเรือไร้สัญชาติเหล่านี้เคยเข้ามาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว โดยเรือจะจับปลาจากในทะเลแล้วนำมาขึ้นที่ภูเก็ต
 
ดังนั้นจึงเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะต้องดำเนินคดีกับนายจ้าง ตรงนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะการนำปลาทูน่าเข้ามาอย่างผิดกฎหมายนั้น ทาง EU กำลังเพ่งเล็งประเทศไทยอย่างหนักในเรื่องกระบวนการการตรวจสอบ เพราะการนำปลาส่งออกไปต่างประเทศจะต้องดำเนินการไปอย่างถูกกฎหมาย จากการสอบถามจากลูกเรือชาวประมง พบว่าปลาที่จับมาได้นั้น ได้รับสัมปทานมาจากพม่าทำประมงในเขตพม่า
 
โดยหลักแล้วปลาที่จับได้จะต้องนำไปขึ้นฝั่งที่ประเทศพม่า ไม่ใช่ประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย แทนที่จะนำปลาไปขึ้นฝั่งที่พม่าเพื่อให้พม่าได้รับค่าธรรมเนียม ก็กลับหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมโดยการลักลอบนำปลามาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย อาจจะมีการนำไปขึ้นฝั่งที่พม่าบ้างเพื่อความสมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการประมวลกฎหมาย ถ้าเราสามารถสอบปากคำจากลูกเรือได้อย่างชัดเจนก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีกับเจ้าของเรือและเจ้าของบริษัทที่นำเรือเข้ามากระทำการผิดกฎหมายในฝั่งประเทศไทย
 
ขณะนี้ทาง EU เพ่งเล็งประเทศในด้านการผลิตปลาทูน่าของประเทศไทยอยู่ว่าฟอกหรือไม่ โดยปลาที่เข้ามาในประเทศไทยจะมีสองส่วน ส่วนแรกคือปลาทูน่าเกรด A ที่จะแพ็คและส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีกส่วนหนึ่งคือส่งขายในประเทศไทยและประเทศอื่น ซึ่งในส่วนนี้ ถ้าปลานี้เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง ปลาที่เราจะส่งออกไปที่ EU ก็จะถูกส่งออกไปอย่างไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการหาที่มาของปลานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก จากการตรวจสอบพบว่าผู้ร่วมธุรกิจการประมงหลายรายใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทำผลประโยชน์ โดยครั้งนี้เรือที่จับกุมนั้น เจ้าของเป็นคนไต้หวัน แต่มีหุ้นส่วนเป็นคนไทยด้วย 
 
นาย Reynaldo Prado Meneses ลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ ได้เปิดใจเล่าให้ผู้สื่อข่าวข่าวภูเก็ตว่า เขาได้ทำงานเป็นลูกเรือหาปลาทูน่าบนเรือลำนี้มาเป็นเวลา 7 เดือนแล้ว เดินทางรอนแรมอยู่บนเรือจากหมู่เกาะมอริเชียส ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย เขามีหนังสือเดินทางติดตัวแต่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและไม่ทราบว่าเรือที่พวกเขาทำงานเป็นเรือไร้สัญชาติ ตอนนี้เขาและเพื่อนๆเพียงอยากร้องขอให้ทางการไทยช่วยเหลือเจรจากับนายจ้างเรื่องค่าตอบแทนในการทำงานเนื่องจากยังไม่ได้รับเงินใด ๆ จากนายจ้าง
 
โดยค่าตอบแทนที่จะได้รับคือเงินเดือน 12,000 บาท จากการทำงานประมงทูน่าเป็นเวลาทั้งหมด 7 เดือน รวมเป็นเงิน 84,000 บาท และเพื่อนคนอื่นๆของเขาบางคนทำงานมาแล้วมากกว่า 20 เดือน และยังไม่ได้ค่าตอบแทน หากพวกเขาได้รับเงินแล้วก็จะเดินทางกลับประเทศของตน ทั้งนี้ นาย Reynaldo ยืนยันกับผู้สื่อข่าวข่าวภูเก็ตว่าการทำงานบนเรือในครั้งนี้พวกเขาเต็มใจมาทำงาน ไม่ได้เป็นการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่