ผู้ว่าภูเก็ตหารือแนวทางรับมือน้ำท่วม-ภัยสึนามิ พร้อมวอนประชาชน “ชัวร์ก่อนแชร์” เรื่องน้ำท่วม

ภูเก็ต - วันที่ 30 ต.ค. 60 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการภัยจากอุทกภัยและสึนามิ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เทศบาลต่างๆ แขวงการทาง เข้าร่วม

เปรมกมล เกษรา

วันอังคาร ที่ 31 ตุลาคม 2560, เวลา 09:17 น.

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (ขวา) และนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัด ภาพ เปรมกมล เกษรา

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (ขวา) และนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัด ภาพ เปรมกมล เกษรา

“วันนี้ได้มีการหารือเรื่องการเตรียมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยได้แจ้งให้มีการเตรียมการในแง่ของการบริหารจัดการเอาไว้ล่วงหน้า และในส่วนของการแก้ไขปัญหาด้านน้ำท่วมนั้น ต้องเน้นจุดที่ท่วมขังเป็นประจำ ได้แก่ทางหลวงหมายเลข 402 หรือ ถ.เทพกระษัตรี ซึ่งมีทั้งหมด 19 จุดตลอดสาย ซึ่งตอนนี้ได้มอบให้หน่วยงานไปทำแผนงานทั้งหมดทุกจุดเพื่อของบสนับสนุนจากส่วนกลาง ทั้งจาแขวงการทาง ทางหลวงชนบท ทางท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะของบประมาณไปตามลำดับความเร่งด่วนและความจำเป็น ว่าจุดไหนได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ควรได้รับการแก้ไขก่อน ส่วนระดับปานกลางก็จะอยู่ถัดลงมา” นายนรภัทร กล่าว 

พ่อเมืองยังได้เน้นย้ำอีกว่า นอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว ทางจังหวัดยังได้ร่วมกันหาแนวทางการเตรียมการรับมือกับคลื่นสึนามิ โดยจะมีการซ้อมอพยพภัยสึนามิในเร็วๆนี้ ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งให้ทางท้องถิ่นเตรียมการสำรวจเส้นทางหนีภัยตั้งแต่อดีต และมาวิเคราะห์ว่าปัจจุบันยังใช้ได้หรือไม่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่หรือไม่ มีจุดพัก จุดรอ จุดจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อส่งเสบียงจุดใดบ้าง

“สิ่งที่ต้องเน้นความสำคัญที่สุดสำหรับเรื่องน้ำท่วมและสึนามิคือระบบการแจ้งเตือนภัย ที่ต้องรวดเร็วและชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที และขอฝากให้ทางท้องถิ่นมีการตื่นตัวตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องเพิ่มไฟสัญญาณการเตือนภัยในเส้นทางหนีภัยสึนามิเพื่อความพร้อมทุกด้านหากเกิดคลื่นสึนามิขึ้นในช่วงเวลากลางคืน”  นายนรภัทร กล่าว

“ส่วนในกรณีที่เกิดฝนตกและมีน้ำท่วมขัง 50 มล. ขึ้นไปภายใน 1-2 ชั่วโมง ทางส่วนราชการจะเข้าประจำศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ ทันทีโดยไม่ต้องมีการแจ้งเตือน”

“ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อย เราจะมีรถกู้ภัยพร้อมเตรียมการในจุดนั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนทันทีที่มีน้ำสะสมระดับสูง เช่นน้ำท่วมเลยจุดที่รถไม่สามารถไปได้ หรือรถเสีย เราจะมีรถยกเข้าไปช่วยเหลือเพื่อเปิดทางจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดช่วงน้ำท่วมอีกหนึ่งแนวทาง”

“ทั้งนี้อยากฝากไปถึงประชาชนในเรื่องการกระจายข่าวสารต่างๆในสื่อออนไลน์ถึงเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง บางครั้งแชร์ข้อมูลเก่า บางทีน้ำลดไปหมดแล้วก็ยังแชร์กันอยู่”

“ขอเรียนว่า อย่าทำ เพราะมันอันตรายมาก และการกระทำนี้ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตมาก เมื่อนักท่องเที่ยวได้เห็นภาพสถานการณ์น้ำท่วมก็จะเกิดความกลัว และหลีกเลี่ยงการเดินทางมาท่องเที่ยวยังภูเก็ต ดังนั้นชาวภูเก็ตจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังด้วย ขอย้ำให้ชัวร์ก่อนแชร์ และให้ติดตามสถานการณ์การแจ้งเตือนภัยจากทางจังหวัดในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 3 พ.ย. 60 นี้ ผ่านทุกช่องทาง เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทีวี และหอกระจายข่าว เสียงตามสาย”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่