แม้ว่าจะเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งมีเอกสารสิทธิ แต่เนื่องจากต้องมีการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้สามารถนำเรือเข้าไปจอดในพื้นที่มารีน่าได้ ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้จะก่อให้เกิดฝุ่นตะกอนและกระทบกับแนวปะการัง รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและสัตว์น้ำอื่น ๆ จึงได้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้มีใจอนุรักษ์ได้เข้าไปดูพื้นที่ทุ่งปะการังดังกล่าวเพื่อยืนยันว่า ทุ่งปะการังดังกล่าวมีอยู่จริง ไม่ใช่ภาพจากที่อื่น
ด้วยเหตุนี้ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จึงพร้อมด้วยนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9, นายสาคร ปู่ดำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต,นายณัฐกฤษณ์ พลเพชร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต, นายมนัส เกิดทรัพย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก, ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาร้องเรียนดังกล่าว บริเวณพื้นที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง เมื่อวานนี้ (16 พ.ค. 61) ในเวลา 17.00 น.
โดยมีนายประดิษฐ์ พวงเกษ ประธานชมรมอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง พร้อมด้วยสมาชิกฯ ร่วมกันให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ และนำสำรวจแนวปะการัง รวมถึงชี้แจงถึงผลกระทบหากมีการก่อสร้างมารีน่า โอกาสนี้ยังได้มีการไปตรวจสอบบริเวณพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดที่จะมีการขุดลอกร่องน้ำสำหรับให้เรือเข้า-ออกด้วย
นายนรภัทร กล่าวภายหลังการลงสำรวจพื้นที่ พร้อมพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่าจากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพทางโซเซียล เกี่ยวกับกรณีที่มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งจะทำการขอสร้างท่าเทียบเรือหรือมารีน่าในพื้นที่ โดยอ้างว่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็น นส.3 ก ซึ่งหากมีการอนุญาตก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะส่งกระทบกับแนวปะการังในบริการดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ใช่ท่าเทียบเรือที่มีอยู่เดิม
“จากข้อมูลที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตในการสร้างท่าเรือต่อกรมเจ้าหน้าหรือทางจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด มีเพียงการยื่นเรื่องต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยทราบจากทางชุมชนว่า มีการดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง และตามหลักการแล้วกรณีที่เอกชนจะมีการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะเช่นนี้จะต้องมีการแจ้งให้นายอำเภอท้องที่ทราบ เพื่อที่จะมีการร่วมรับฟังข้อมูล รวมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงด้วย”
นายนรภัทร กล่าวอีกว่า จากสภาพพื้นที่พบว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับป่าชายเลนและทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงต้องแจ้งให้รับทราบด้วย และมีข้อมูลว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปรับฟังและโต้แย้งข้อมูลต่าง ๆ
ในส่วนของการจัดรับฟังความคิดเห็นเมื่อแล้วเสร็จ ทาง สผ.ก็จะต้องส่งเรื่องมายังจังหวัดซึ่งมีคณะอนุกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้พิจารณาว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ในการให้ข้อมูลหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ โดยจะมีการรายงานข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนกลางด้วย เช่น กรมเจ้าท่า กรม ทช. มหาดไทย เป็นต้น
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับท้องทะเลไทยเป็นอย่างมาก ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการก่อสร้างหรือการทำท่าเรือส่งผลกระทบต่อปะการัง ก็คงดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมระบุว่า พรบ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่กำลังจะออก นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่น ๆ เช่น พรบ.ทช. ที่มีอำนาจในการระงับและสั่งการได้ แต่ต้องถึงขั้นตอนนั้นก่อน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางภาครัฐจะยังไม่สามารถระงับโครงการใด ๆ ได้ เนื่องจากไม่ใช่โครงการของรัฐ และยังไม่ถึงขั้นตอนที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายได้ เพราะเอกชนมีสิทธิเสนอโครงการ มีสิทธิทำ EIA ส่งภาครัฐพิจารณา
“หากจะเรียกร้องตอนนี้ ต้องขอให้เอกชนเลิกทำโครงการต่อ และเลิกทำ EIA ถ้าไม่เช่นนั้น ต้องช่วยกันเก็บข้อมูลไว้ รอจนให้ EIA เข้าสู่การพิจารณาของคชก. และนำเสนอข้อมูลพวกนั้น (กรมทะเล เครือข่ายชาวบ้าน อาจารย์ ฯลฯ กำลังทำอยู่ครับ) ดีใจที่มีคนห่วงใยทะเลมากมายครับ” ดร.ธรณ์ กล่าว