ผู้ว่าฯ สั่งสอบส่วย

พ่อเมืองภูเก็ตยันไม่เคยรับหรือมอบหมายผู้ใดไปรับเก็บเงินส่วย ตามที่ปรากฏในเพจ ‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน’

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 11:00 น.

นักเรียนในจังหวัดภูเก็ตร่วมเดินขบานพาเหรดรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น

นักเรียนในจังหวัดภูเก็ตร่วมเดินขบานพาเหรดรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น

จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการรับส่วยในจังหวัดภูเก็ต และได้เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์นั้น ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่าตนขอยืนยัน “ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่เคยรับเงินส่วย หรือมอบหมายผู้ใดไปรับเงินส่วย หรือเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจากสถานประกอบการใดๆทุกประเภท ไม่ว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม”

บทความดังกล่าวถูกเขียนขึ้นและเผยแพร่ผ่านทางหน้าเพจเฟสบุค 'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน' เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 21.43 น. ภายใต้หัวข้อ “ภูเก็ต: ทำไมคอร์รัปชันเยอะจัง?” โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในวันเเดียวกัน (13 ก.พ. 60) โดยในบทความบางส่วนระบุว่า

“คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์และผมได้เดินทางมาภูเก็ตเพื่อพบกับคนสามกลุ่มคือ พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจนักลงทุนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ทำให้ได้รับฟังข้อมูลสารพัดการโกง รีดไถ ข่มเหงรังแกและการฉกฉวยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น แม้จะรู้ดีว่าพฤติกรรมชั่วร้ายแบบนี้มีทั่วประเทศ แต่จากข้อมูลและหลักฐานจำนวนมากแล้วพูดได้ว่าที่นี่มีมากและทำกันโฉ่งฉ่างแบบไม่เกรงกลัวใคร”

ดร.มานะ ได้กล่าวถึง ‘ส่วยร้านค้า ร้านอาหาร’ ว่ามีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจาก 12 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว ตม. กองปราบ ตชด. สืบฯ จังหวัด สืบฯกอง 5 ตำรวจภาค 8 หน่วยป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงาน อบต.หรือเทศบาล และ ผู้ว่าฯ และเหตุที่ใช้ข่มขู่หรือจับกุมมากที่สุดคือการใช้แรงงานต่างด้าว

โดยบทความในเพจกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้จะอำนาจก่อน โดยจับร้านค้าหรือจับคนงานไปโรงพักแต่มักจบด้วยการเรียกเงินแทนการดำเนินคดี เช่น จับลูกจ้างชาวพม่าจะเรียกหัวละ 2 หมื่นบาทแล้วปล่อยตัว จากนั้นจะเปิดเจรจาเก็บส่วยรายเดือนๆ ละ 1 พันบาทต่อร้าน บางพื้นที่อาจคิดเหมา เช่น ในซอยนี้มี 8 ร้านค้าใหญ่ก็ให้ไปลงขันกันมาให้ได้ 2 หมื่นบาท

“เมื่อถามว่าทำไมไม่ไปขึ้นทะเบียนคนงานต่างชาติให้ถูกต้อง คำตอบคือ ค่าเท่ากันเพราะแค่เจ้าหน้าที่แกล้งมาจอดรถหรือมายืนให้เห็น คนงานก็กลัววิ่งหนีทิ้งงานทิ้งลูกค้าหมด คนงานพกสำเนาใบอนุญาตก็ไม่ได้ บางครั้งเรียกคนงานมาตรวจเอกสารก็แกล้งให้นั่งตากแดดเป็นชั่วโมงๆ แล้วปล่อยตัวไปเฉยๆ ก็มี”

และยังรวมไปถึง ‘ส่วยนักธุรกิจและชาวต่างชาติ’ โดยอ้างว่า “นักธุรกิจอาจต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกสีมากถึง 26 หน่วยงาน เป็นสีกากีเสีย 10 หน่วยและนี่อาจเป็นที่มาของข่าวลือว่าสีกากีหาดป่าตองมีรายได้พิเศษมากถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน”

นอกจากนี้ เพจดังกล่าวยังได้อ้างว่า “มีวัยรุ่นฝรั่งโดยตึกตายมาแล้วนับสิบรายแล้ว ดูเผินๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องของคนคลั่งเมายา แต่เบื้องหลังคือมีผับบาร์จำนวนมากเห็นแก่ได้ ขายเหล้าผสมยาบ้าเพื่อเรียกลูกค้า เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครทำอะไรแต่ทุกคนเอาเลือกเอาเงิน โดยไม่สนว่าจะมีคนตายหรือเสียชื่อเสียงของประเทศอย่างไร”

ดร.มานะ ได้กล่าวถึงอีกหลายประเด็นร้อนในจังหวัดภูเก็ต ที่อ้างว่าได้พบปะพูดคุยกับคนในท้องที่ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ดร. มานะ ระบุว่า บทความดังกล่าวเป็นเพียงมาการบอกเล่า เพราะไม่มีใครกล้าเปิดเผยตัวหรือเป็นพยานให้เพราะกลัวจะได้รับอันตราย

และจากกรณีดังกล่าว ทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการ รวมถึงสั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดในทุกประเด็นที่ได้ปรากฏในข้อความทั้งหมด และจะนัดประชุมคณะกรรมการจังหวัดเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน  พร้อมทั้งจะได้ประสานขอข้อมูลจากผู้เผยแพร่ข้อมูลมาประกอบในการพิจารณา

ดร.โชคชัย ได้สั่งหน่วยราชการต่อต้านคอรัปชั่นร่วมสร้างภูเก็ตสีขาว เปิดตู้ ปณ. แจ้ง ข้อมูลข่าวสารถึงผู้ว่าโดยตรง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อสั่งการและกำชับแนวทางการปฏิบัติราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นวาระพิเศษ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม เพื่อสื่อสารและกำชับให้หน่วยงานราชการ ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ร่วมสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองสีขาว ทั้งนี้ มีเรื่องที่จะต้องจัดการเร่งด่วน 8 ประเด็นปัญหา คือ

1. เรื่องส่วยร้านอาหารร้านค้า ที่มีการระบุว่ามีหน่วยงานเข้าไปเรียกรับผลประโยชน์จำนวน 12 หน่วยงาน
2. ส่วยนักธุรกิจต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตมีการถูกเอารัดเอาเปรียบ
ในประเด็นที่ 1 และ 2 ขอให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทางจังหวัด และต้นสังกัดได้รับทราบ
3. เรื่องของการจัดระเบียบโรงแรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงความถูกต้องของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน, การอนุญาตก่อสร้าง, อาคารที่มีความสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด, การชำระค่าภาษีของโรงแรมและตรวจสอบเรื่องการเรียกเงินเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบโรงแรมที่ทำผิดกฎหมาย
4. เรื่องการยื่นเอกสารจดทะเบียนประกอบธุรกิจ ที่มีการร้องเรียนว่า ยื่นเอกสารครบแต่การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐมีความล่าช้า มีการเรียกรับผลประโยชน์ ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้จังหวัดทราบ
5. เรื่องการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ขอให้สำนักงานชลประทานที่ 25 ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน
6. การสร้างเส้นทางจักรยาน ในสวนหลวง ร.9 ดำเนินการโดยท่องเที่ยวและกีฬา
7. ร้านเหล้าในพื้นที่ ป่าตอง ขายเหล้าผสมยาบ้าทำให้นักท่องเที่ยวเมาและกระโดดตึกเสียชีวิตในเรื่องนี้ขอให้ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตเร่งสืบสวนข้อเท็จจริง
8. เรื่องส่วยเพื่อให้ยกเว้นการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เช่น โรงแรมที่กระทำผิดกฎหมาย

“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาต่างๆ ทำรายงานชี้แจง ต้นสังกัด ของตนเองและขอให้ส่งรายงานให้ทางจังหวัดเพื่อดำเนินการแก้ปัญหา ภายในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ทั้งนี้ มอบหมาย ให้นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตรับผิดชอบและตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหา ทั้ง 8 เรื่อง” ดร.โชคชัย กล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวย้ำว่า หากผลการสืบสวนสอบสวนมีมูล ขอให้มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตจะดำเนินการทุกอย่างโดยใช้หลักกฎหมาย หากผู้ใดมีเบาะแสหรือหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์จากสถานประกอบการต่างๆ ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาดต่อไป



 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่