ผู้เชี่ยวชาญยืนยันสาหร่ายสีเขียวหาดป่าตองไม่เป็นอันตราย

ภูเก็ต – นักวิชาการเผยสาหร่ายสีเขียวที่พบลอยเด่นบริเวณชายหาดป่าตอง ไม่มีอันตราย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองออกคำสั่งเก็บกวาดทำความสะอาดครั้งใหญ่ เพื่อนำสาหร่ายสีเขียวออกจากบริเวณชายหาดป่าตอง แม้จะต้องใช้เวลาแต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

ธัญลักษณ์ สากูต

วันพุธ ที่ 23 มกราคม 2562, เวลา 17:17 น.

ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ว่า เมื่อวันจันทร์ (21 ม.ค. 62) ศวทม. ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่เทศบาลป่าตอง ว่าพบสาหร่ายสีเขียวสะพรั่งบริเวณชายหาดป่าตองจึงได้ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อตรวจวัดปัจจัยคุณภาพน้ำ และเก็บตัวอย่างสาหร่ายสีเขียวดังกล่าว

จากการสำรวจพบว่า สาหร่ายสีเขียวกระจายตัวตั้งแต่หน้าโรงแรม ซีเพิร์ล บีช รีสอร์ท (ทิศใต้ของอ่าวป่าตอง) กินบริเวณมากกว่า 500 เมตร ในการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ไม่พบการตายของสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง ซึ่งผลการจำแนกชนิดสาหร่ายสีเขียว พบว่าเป็นสาหร่ายชนิด Cladophora sp. ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดการสะพรั่ง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

ด้าน ดร.จิรพร เจริญวัฒนาพร นักวิชาการประมงที่ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชทะเลและปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ศวทม.หรือ PMBC กล่าวว่า หลังจากที่พบสาหร่ายสีเขียวเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา ก็ได้นำสาหร่ายเหล่านั้นไปทำการวิจัยที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ภูเก็ต และได้แจ้งเรื่องกลับมายังทางเจ้าหน้าที่เทศบาลป่าตอง

“เมื่อสาหร่ายชนิดนี้เกิดการเจริญเติบโตอย่างมาก และตายลงจะเกิดกลิ่นเหม็นคาวและอาจจะเกิดเมือกและทำให้ระคายเคืองกับผิวหนังได้ และการนำสาหร่ายสีเขียวออกจากชายหาดเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาระยะสั้น” ดร.จิรพร กล่าว

ส่วนสาเหตุของการเกิดการสะพรั่ง น่าจะเกิดจากปริมาณธาตุอาหารในน้ำมีค่าสูง ประกอบกับปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม และจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำรอบเกาะภูเก็ต พบว่าปริมาณธาตุอาหารในน้ำบริเวณชายฝั่งของหาดป่าตองมีค่าสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกิดจากบริเวณพื้นที่อ่าวป่าตอง มีชุมชนที่อยู่อาศัย และโรงแรมตั้งอยู่อย่างหนาแน่น และลักษณะที่เป็นอ่าว ทำให้การหมุนเวียนของน้ำไม่ได้รับการแลกเปลี่ยนจากน้ำภายนอก

เมื่อเปรียบเทียบกับหาดในบริเวณใกล้เคียง ที่มีความหนาแน่นของชุมและโรงแรมน้อยกว่า และเป็นอ่าวเปิด มีการแลกเปลี่ยนน้ำกับกระแสน้ำภายนอกได้ดีกว่า ผลกระทบของการเกิดการสะพรั่ง จากการสอบถามพบว่านักท่องเที่ยวมีอาการระคายเคืองตามผิวหนัง และทำให้การสัญจรทางน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก และไม่มีรายงานการเป็นพิษจากการสัมผัสสาหร่ายชนิดนี้ สำหรับเหตุการณ์สาหร่ายถูกคลื่นซัดเข้ามายังฝั่ง ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาปริมาณไม่มากเหมือนในครั้งนี้

ทั้งนี้ นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่นำรถตักหน้าขุดหลังและรถแบคโฮ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำการเก็บกวาดทุก ๆ เช้าแต่ต้องใช้เวลาในการเก็บกวาด เนื่องจากสาหร่ายมีปริมาณค่อนข้างมาก

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่