พบกวางในเมืองนาราตายอนาจ เพราะกินพลาสติกเข้าไปอัดแน่นสะสมกว่า 4 กก.

ญี่ปุ่น - สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สัตวแพทย์ของสมาคมสวัสดิภาพกวางนาราเผยว่า ได้พบกวางตัวหนึ่งที่มีลักษณะอ่อนเพลียมาก ณ สวนสาธารณะเมืองนารา ใกล้วัดโทไดจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พวกเขาพยายามให้อาหารมัน แต่มันก็ไม่ยอมกินอาหาร และวันต่อมาเจ้ากวางเพศเมียวัย 17 ปี น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ก็ต้องตายลงไป

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน 2562, เวลา 09:00 น.

ภาพ : Nara Deer Welfare Association

ภาพ : Nara Deer Welfare Association

และเมื่อสัตวแพทย์ได้ทำการชันสูตรผ่าซากของกวางตัวดังกล่าว ก็พบว่ากระเพาะของมันเต็มไปด้วยพลาสติกแข็ง ที่คาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากถุงพลาสติกพอลิเอทิลีน ซึ่งมีมวลรวมอยู่ในท้องของกวางตัวดังกล่าวกว่า 3.2 กิโลกรัม

จากการรายงานของสัตวแพทย์ได้ระบุว่า การที่มีพลาสติกสะสมอยู่ในท้องของกวางนั้น ทำให้มันไม่สามารถคายอาหารออก, ย่อยอาหาร หรือกลืนกินอาหารใหม่เข้าไปได้ จนในที่สุดมันก็ต้องจบชีวิตลง

จากได้ชันสูตรกวางจำนวน 8 ตัวที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ปรากฎว่าทีมผ่าซากพบพลาสติกในกระเพาะของกวางถึง 6 ตัว ซึ่งปริมาณพลาสติกที่พบสะสมในท้องสูงสุด ซึ่งพบในท้องของกวางตัวหนึ่งมีน้ำหนักมากถึง 4.3 กิโลกรัม

บริเวณสวนสาธารณะนารา มีป้ายติดตั้งอยู่โดยชัดเจนหลายจุด ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวให้อาหารอย่างอื่นกับกวาง นอกจากขนมเซมเบ้ ซึ่งมีขายอยู่ภายในสวนสาธารณะเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีการพบเห็นนักท่องเที่ยวนำถุงพลาสติกที่ใส่อาหารมาให้ฝูงกวางกิน ทั้งยังพบว่ามีกวางบางตัวได้กัดและกินถุงพลาสติกเหล่านั้นเข้าไปด้วย

การที่กวางเหล่านั้นกลืนกินพลาสติกเข้าไป ก็เป็นเพราะว่าพวกมันไม่สามารถแยกแยะระหว่างวัสดุสังเคราะห์กับอาหารได้ พวกมันจึงเข้าใจผิดว่าสามารถกินได้ทั้งอาหารและถุงที่ใส่มาด้วย จึงต้องมีการเตือนให้นักท่องเที่ยวเก็บขยะกลับไปด้วย

จากความพยายามของสมาคมกวางนารา ที่ต้องการจะปกป้องไม่ให้กวางตายเพราะกินพลาสติก พวกเขาจึงได้พัฒนาถุงชนิดพิเศษ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อใช้ทดแทนถุงพลาสติกพิฆาตเหล่านั้น

เรื่องน่าเศร้าก็คือ ไม่ได้มีเพียงแค่สัตว์บกเท่านั้นที่ต้องประสบกับโศกนาฏกรรมพลาสติกในปัจจุบัน เพราะไม่นานมานี้ ได้มีการพบซากวาฬหัวทุย ถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นที่ชายหาดในซิซิลี โดยในท้องของวาฬวัยเยาว์ที่คาดว่าอายุ 7 ปีนั้นเต็มไปด้วยพลาสติกและวัสดุพลาสติกอื่น ๆ ทั้งนี้ โดยปกติแล้ววาฬหัวทุยนั้นมีอายุยืนยาวได้ถึงประมาณ 70 ปี ซึ่งสาเหตุการตายของวาฬตัวนั้นยังอยู่ระหว่างการสืบสวน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนนักว่า สาเหตุเกิดจากจากการกินพลาสติกมากเกินไป หรือมาจากสาเหตุอื่นกันแน่

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่