พัฒนาท่องเที่ยววิถีมุสลิม สร้างโมเดลท่องเที่ยวแนวใหม่รอรับนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง

ภูเก็ต - กรมการท่องเที่ยว ระดมสมอง การท่องเที่ยววิถีมุสลิมฟื้นฟูการท่องเที่ยวแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ สร้างโมเดลรอรับนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง การท่องเที่ยววิถีมุสลิมการท่องเที่ยววิถีใหม่

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2566, เวลา 12:13 น.

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 66 ณ ห้องสกาย ชั้น 3 โรงแรมพาโก้ ดีไซน์จังหวัดภูเก็ต นายอธึก ประเสนมูล ผู้อำนวยการ กองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นประธานเปิดการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) โครงการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวคุณภาพสูง: ศึกษากรณีนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวตะวันออกกลางเข้าร่วม

นายอธึก กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตามแผนแม่บทภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ของประเทศ ได้มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันในประเด็นที่ 3 สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว โดยการรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง

ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการมาท่องเที่ยว เนื่องจากมีความพร้อมในด้านทรัพยากรทางการท่องเที่ยวตลอดจนความพร้อมในด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และการให้บริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยวซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บริการด้านการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวใสถานการณ์วิถีปกติใหม่

หากจะให้เกิดประสิทธิภาพสูง จำเป็นจะต้องคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่สนใจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเห็นได้จาก Mastercard-Crescentrating ได้มีการจัดทำดัชนีการเดินทางท่องเที่ยวของมุสลิมโลก Global Muslim Travel Index 2022 : GMTI เพื่อจัดอันดับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในประเทศ OIC (Organization of Islamic Cooperation) ได้แก่ มาเลเซีย อยู่ในอันดับสูงสุด ตามมาด้วยตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ 2 ร่วมกัน

ส่วนจุดหมายปลายทางที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศ OIC จัดอันดับ 4 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักรและประเทศไทยตลาดกลุ่มลูกค้ามุสลิมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินับเป็นตลาดศักยภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีจำนวนเม็ดเงินมหาศาล กลายเป็นตลาดเป้าหมายที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากมีการใช้จ่ายสูง ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และบุคลากรในสายปฏิบัติการ ยิ่งทำให้ความสำคัญของตลาดกลุ่มมุสลิมมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และการเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารและคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงควรมีการวางกลยุทธ์พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง

นายอธึก กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในด้านบริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว บุคลากรด้านการท่องเที่ยวธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว เกิดเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จึงได้เตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมและเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีมุสลิมในเชิงรุกในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์วิถีปกติใหม่สร้างความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิม กรมการท่องเที่ยวจึงร่วมกับบริษัท เอ็กเซลเลนท์ บิสเนส แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ จัดประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) รับฟังความคิดเห็นจำนวน 4 ครั้งในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ได้แก่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี และที่ภูเก็ตในวันนี้ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ รองรับการท่องเที่ยวคุณภาพสูง: ศึกษากรณีนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่รองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว วิถีมุสลิม ของประเทศไทย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่