พ่อแม่มือใหม่ตรวจเลือดก่อนมีลูก หลีกเลี่ยงธาลัสซีเมีย

สุขภาพ - หลังกรมการแพทย์ เผยแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียสูงถึง 12,000 ราย

Thaihealth

วันอาทิตย์ ที่ 10 กันยายน 2560, เวลา 09:00 น.

ภาพ Thaihealth

ภาพ Thaihealth

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ธาลัสซีเมีย คือโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากข้อมูลพบว่า ประชากรไทยมียีนทางพันธุกรรมที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ ประมาณร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 18 - 24 ล้านคน

โรคนี้จะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ ความผิดปกติของยีนบนโครโมโซม แบ่งระดับความรุนแรงของโรคได้ 3 ระดับ คือ กลุ่มที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เกิดจากความผิดปกติของยีนบนโครโมโซมเพียงข้างเดียว ทำให้ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

กลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการปานกลาง จะมีอาการโลหิตจางแต่ไม่มากนัก ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ แต่ตับและม้ามจะโตขึ้น ซีดเหลือง ตาเหลือง และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง กลุ่มนี้มักแสดงอาการตั้งแต่เด็ก โดยจะมีการเจริญเติบโตช้า เม็ดเลือดในร่างกายมีมากกว่าปกติเพื่อทดแทนเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายโดยตับและม้าม กระดูกขยายตัว ใบหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยกระดูกแก้มสูงนูนออกมามาก คิ้วห่างออกจากกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องรับเลือดเป็นประจำ ทำให้เกิดภาวะเหล็กเกิน ผิวอาจเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ถ้าสะสมที่อวัยวะภายใน เช่น จะทำให้ตับแข็งได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากจะเหนื่อยง่าย ติดเชื้อง่าย กระดูกเปราะ และ เจริญเติบโตช้า ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายแต่พอควร ไม่หักโหม เลือกประเภทการออกกำลังกาย/การเล่นกีฬาที่ไม่เสี่ยงต่อการหักของกระดูก และหลีกเลี่ยงโอกาสติดเชื้อง่าย เช่น สถานที่แออัด รับประทานอาหารมีประโยชน์ โดยเฉพาะโปรตีน และอาหารที่มีโฟเลตสูง เพื่อเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืช นมและไข่ จำกัดอาหารมีเหล็กสูง เช่น ผัก และผลไม้ สีแดง สีส้ม สีเหลือง เลี่ยงอาหารจำพวกเลือดสัตว์ เช่น เลือดหมู เลือดไก่ ไม่ควรสูบบุหรี่และดื่มสุรา

HeadStart International School Phuket

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องจากโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงทำให้ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 12,125 ราย วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือลดจำนวนการเกิดโรคในเด็กเกิดใหม่ โดยเน้นที่การตรวจเลือดหาความผิดปกติและตรวจคัดกรอง จึงขอให้คู่สามีภรรยาวางแผนก่อนมีลูก โดยพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำในการวางแผนครอบครัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

โดย Patcharee Bonkham

ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่