เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 65 ที่บริเวณท่าเทียบเรือประมง ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์สร้างการรับรู้มาตรการเชิงป้องกันด้านความปลอดภัยชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ในงานประมงทะเล รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2
นายธนพงศ์ อรชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ระหว่างปี พ.ศ.2546 -2561 มีรายงานเหตุการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่อับอากาศทั้งสิ้น 62 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 210 ราย เป็นผู้บาดเจ็บ 80 ราย เสียชีวิต 130 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 61.9 และมีแนวโน้มการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2557-2561 และสูงสุดในปี พ.ศ. 2560 พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 34 ราย ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดเกิดจากการขาดอากาศหายใจ หรือมีออกซิเจนไม่เพียงพอ และการสูดดมก๊าซพิษระหว่างการทำงานในโรงงาน
สำหรับการจัดอบรมให้แก่ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องในงานประมงทะเลจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 30 คน ในครั้งนี้มีวิทยากรจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ร่วมบรรยายและสาธิตการปฏิบัติในสร้างการรับรู้มาตรการเชิงป้องกันด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน การปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน รวมถึงลดการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างพื้นที่อับอากาศ
ทางด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2563-2564 จังหวัดภูเก็ตมีการประสบอันตรายกรณีพลัดตกและเสียชีวิตทางน้ำค่อนข้างสูง ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้และทักษะการปฐมพยาบาลและการช่วยพื้นคืนชีพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องในงานประมงได้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งอาจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ