ภูเก็ตประชุมเตรียมรับอุทกภัย สัปดาห์หน้าเตือนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง

ภูเก็ต – จังหวัดภูเก็ตประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝน ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน อาจมีพายุไซโคลนก่อตัวในทะเลอันดามันหรืออ่าวเบงกอล เคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ทางด้านตะวันตกของประเทศ อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้า

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันศุกร์ ที่ 12 กรกฎาคม 2567, เวลา 11:28 น.

วันที่ 11 ก.ค. 67 เวลา 13.30 น. นายศรัทธา ทองคำ พร้อมด้วย พลเรือตรี ทินกร กาญจนเตมีย์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต นายสุวิทย์ สุริยะวงค์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายโสภณ ทองไสย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนายอำเภอ ผู้แทนหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุม

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม 2567 จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอุณหภูมิจะลดลง มีฝนตกซุกเพิ่มมากขึ้น และอาจมีพายุไซโคลนก่อตัวในทะเลอันดามันหรืออ่าวเบงกอลเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ทางด้านตะวันตกของประเทศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้า (15-22 ก.ค.) คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้น และจะลดลงในสัปดาห์ถัดไป ดังนั้น เพื่อให้การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 จึงได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฯ ดังกล่าว

โดยสั่งการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้
1.การเตรียมความพร้อม ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และการแจ้งเตือนภัย
2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้
- จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ
- จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง
- ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามช่องทางที่กำหนด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจ สั่งการในเชิงนโยบายต่อไป

Berda Claude International School of Phuket (BCIS)

ปภ. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัยและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์“ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 โดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 -2570 โดยมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ/กั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุ

โดยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการณ์เหตุการณ์ จังหวัดภูเก็ตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยปี 2567 และแจ้งให้อำเภอจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรพกำลังและประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครและประชาชนจิตอาสาเฝ้ารระวังชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ บูรณาการความร่วมมือระหว่างพลเรือน ทหารและภาคเอกชน เพื่อนำเครื่องจักรกลเข้าพื้นที่เร่งระบายน้ำ พร้อมจัดชุดปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย การแจ้งเตือนภัย การอำนวยความสะดวกด้านการจราจร หลังจากนั้นให้สำรวจความเสียหายเบื้องต้น ทั้งบ้านเรือน ถนนเส้นทาง ความเสียหายด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือน เส้นทางชำรุด/ตัดขาด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่