นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย นายอุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเลช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 จังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันแถลงข่าวปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเลช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566
นายอานุภาพ กล่าวว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเลช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 เพื่อเตรียมความพร้อม โดยเริ่มรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1-21 ธันวาคม 2565 ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น, 22 - 28 ธันวาคม 2565 ช่วงควบคุมเข้มข้นและระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 5 - 11 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายมีเป้าหมายการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการบูรณาการแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ พ.ศ. 2566 โดยจัดเก็บข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 4 มกราคม 2566 บัดนี้ การดำเนินการรณรงค์ดังกล่าวได้ครบกำหนด 7 วัน ตามนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเรียบร้อยแล้ว
นายอานุภาพ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 จังหวัดภูเก็ต ขอรายงานผลการดำเนินงานของวันที่ 4 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 7 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 8 ราย และผู้เสียชีวิต 0 รายส่วนสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต ดังนี้ สถิติสะสมรวม 7 วัน (วันที่29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 41 ครั้ง (ปีใหม่ ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 28 ครั้ง เพิ่มขึ้น 13 ครั้ง เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 31.72 ) ผู้บาดเจ็บ 42 คน (ปีใหม่ ปี 2565 จำนวน 27 คน เพิ่มขึ้น 20 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 47.60) ผู้เสียชีวิต 3 คน (ปีใหม่ ปี 2565 จำนวน 1 คน เพิ่มขึ้น 2 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 66.67) อำเภอที่มีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย อำเภอเมืองภูเก็ต 2 ราย อำเภอถลาง 1 ราย
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน 7 วัน พบว่าพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดเหตุเรียงตามลำดับ ได้แก่ไม่สวมหมวกนิรภัย/ ดื่มแล้วขับและขับรถเร็วเกินกำหนดส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเรียงตามลำดับ ได้แก่ 1. ขับรถเร็วเกินกำหนด 2. ดื่มแล้วขับและ 3. ตัดหน้ากระชั้นชิด
ส่วนผลการเรียกตรวจยานพาหนะชนิดต่าง ๆ (สะสม 7 วัน) เรียกตรวจ จำนวน 11,719 คัน เพิ่มขึ้นจากการเรียกตรวจ ปี 65 จำนวน 480 คัน (ปีใหม่ 2565 เรียกตรวจ 11,239 คัน) มีผู้กระทำผิดข้อหาหลัก 10 ข้อหา (สะสม 7 วัน ) จำนวน 4,092 ราย เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี เมื่อปี 65 จำนวน 1,117 ราย (ปีใหม่ 2565 จำนวน 2,975 ราย)
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและ ทางทะเลช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 จังหวัดภูเก็ตจะได้ถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดภูเก็ตต่อไป