ภูเก็ตพร้อมจัดแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า”

ภูเก็ต – จังหวัดภูเก็ตแถลงข่าวความพร้อมการจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ระหว่างวันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567 บริเวณอ่าวกะตะ จังหวัดภูเก็ต โดยในปีนี้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเป็นปีแรก

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567, เวลา 16:09 น.

“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” จัดขึ้นเพื่อสืบสานกีฬาเรือใบตามรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบที่ทรงพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับสากล ดำเนินตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขันเรือใบระดับโลกของไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. เวลา 10.30 น. ในการแถลงข่าวตามโครงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายสำคัญ ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต (กิจกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน) ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมมุกอันดา ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานฯ โอกาสนี้ นางสาวชนัญญา พิริยานสรณ์ ผู้จัดการแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า, นายศศิศศ์ ถาวรว่องวงศ์ รองประธานกรรมการบริหารเครือกะตะกรุ๊ป และรีสอร์ทและนายศุภกิจ ด้วงเงิน กรรมการแข่งขันเรือใบคนพิการได้ร่วมแถลงข่าว ความพร้อมการจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567

นายโสภณ กล่าวถึงผลเชิงบวกของงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าที่มีต่อประเทศไทยว่า “การแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าไม่เพียงเน้นย้ำถึงมรดกทางทะเลของเรา แต่ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยว การแข่งขันนี้สร้างประโยชน์แก่ชุมชนอย่างมหาศาล และถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญในปฏิทินทัวร์นาเมนต์เรือใบระดับโลก ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมายังภูเก็ต”

ด้าน นางสาวชนัญญา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ ภูเก็ตคิงคัพรีกัตตา ” ว่า “คณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ภายใต้ชื่อ บริษัท พีเคซีอาร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ สโมสรเรือใบราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยจัดงานในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีมาโดยตลอด “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ที่เกาะภูเก็ต โดยมีการแล่นเรือในน่านน้ำทะเล อันดามันและได้รับการสนับสนุนจากโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ (Le Royal Meridien Phuket Yacht Club) โดยครั้งนั้นมีการแข่งเรือใบ 4 ประเภท ได้แก่ Keelboats, Catamarans, Lasers และ Boards ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นการแข่งขันเรือใบที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย การแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในทุกปี ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้ายังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึงสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ กองทัพเรือไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และชุมชนท้องถิ่นของภูเก็ต โดยมีการจัดงานเลี้ยงและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง

การแข่งขันและถ้วยพระราชทาน ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน ออกแบบโดย ม.ล. ตรีทศยุทธ เทวกุล หนึ่งในนักแล่นเรือผู้ริเริ่มการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหลอมรวมของใบเรือและหมายเลข 9 อันเป็นองค์หลักของการออกแบบถ้วยรางวัลพระราชทานนี้ในปี 2560 มีการปรับถ้วยรางวัลพระราชทานเป็น 10 ใบเรือ ประดับด้วยตราพระปรมาภิไธยประจำรัชกาลที่ 10 ใบเรือที่งดงามทั้ง 10 ใบ เชิดใบอย่างสง่างามจากจุดศูนย์กลาง รายล้อมแกนหลักที่ทำมาจากเสาเงิน โดยมีปลายแหลมของใบเรือเป็นที่ตั้งของตราสัญลักษณ์อักษร พระปรมาภิไธยย่อ วปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ โดยวัสดุเงินทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานไม้แอช ที่สื่อความหมายถึงท้องทะเล

HeadStart International School Phuket

ปัจจุบันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้กลายเป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชียแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ เรือเรซซิ่ง คลาส เรือความเร็วสูง เรือมัลติฮัลล์ และเรือดิงกี้ โดยมีนักแล่นเรือใบเข้าร่วมกว่า 500 คน และเรือใบกว่า 90 ลำในแต่ละปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนเรือเข้าร่วมทั้งสิ้น 151 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือใบคีลโบ้ทและมัลติฮัลล์ จำนวน 30 ลำ และเรือใบเล็กดิงกี้จำนวนกว่า 120 ลำ

การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังเป็นการสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อพัฒนา Marina Hub ให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของประเทศ การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ได้รับผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง มีเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาท ตลอดสัปดาห์การจัดงาน จังหวัดภูเก็ตได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักกีฬาและนักเดินทางมากยิ่งขึ้น รวมถึงการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักกีฬาเยาวชนที่ต้องการฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในระดับสากล อันจะเป็นอีกโอกาสสำคัญในการเฟ้นหานักกีฬาเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเรือใบต่อไป

รายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่นภูเก็ตเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงร้านอาหารและบริการขนส่ง ล้วนเติบโตตลอดช่วงสัปดาห์การแข่งขันเรือใบ ด้วยบรรยากาศที่รื่นเริงของงานเทศกาลและการหลั่งไหลของทัพนักท่องเที่ยว งานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่าการแข่งเรือใบมีส่วนช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นจำนวนหลายล้านบาทต่อปี และเป็นเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกเรือต่างชาติ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีชื่อเสียงร่วมกันนำเสนออาหารท้องถิ่นรสเลิศ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยและดื่มด่ำกับเทศกาลแข่งขันเรือใบอย่างเต็มอิ่ม

ด้านนายศุภกิจ กล่าวว่า “ในปีนี้ การจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ได้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเป็นปีแรก ซึ่งมีนักกีฬาสนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 7 ราย ถือเป็นสิ่งที่ดีและยกระดับการแข่งขันเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม” และในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ใน วันศุกร์ที่ 6 ธ.ค. 67 ณ โรงแรมบียอนด์กะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ. ภูเก็ต ด้วย


 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่