ภูเก็ตพร้อมรับ 330 บาท หลังติด 1 ใน 3 จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด

ภูเก็ต - จากกรณี เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 61 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้ข้อสรุปร่วมกันหลังจากใช้เวลาประชุมยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศในอัตรา 5-22 บาท

ธัญลักษณ์ สากูต

วันเสาร์ ที่ 27 มกราคม 2561, เวลา 09:00 น.

โพสต์ทูเดย์รายงาน ว่า นายจรินทร์ เปิดเผยถึงข้อสรุปในที่ประชุมว่า จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดอยู่ที่ 5-22 บาท โดยจะแบ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 7 ระดับ

ภูเก็ตเป็น 1 ในกลุ่มจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด ที่ 330 บาท ร่วมกับ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ส่วนจังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำสุดคือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ 308 บาท เเละเพิ่มไล่ระดับมาที่ 310, 315, 318, 320 และ 325 บาท

นายจรินทร์ กล่าวอีกว่า “อัตราเฉลี่ยของค่าจ้างขั้นต่ำจะอยู่ที่ 315.97 บาท โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 61 เป็นต้นไป”

ด้านนายวัชร จารุอริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง Vasi Co., Ltd. หนึ่งในบริษัทผู้นำด้านการรับเหมาก่อสร้างให้กับโครงการมูลค่าระดับพันล้านบาทในฝั่งอันดามัน ระบุว่า การขึ้นค่าแรงงานมีผลกระทบกับกลุ่มผู้รับเหมาในภูเก็ตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้รับเหมารายย่อย

“ผมเชื่อว่า การขึ้นค่าแรงมีผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากงานก่อสร้างต้องใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่” 

“อยากฝากถึงภาครัฐว่า หากเรามองในแง่ของแรงงาน ซึ่งผมมองว่าเขาเหล่านั้นน่าสงสาร การเพิ่มค่าแรงมันเป็นการดีกับแรงงาน แต่หากเราเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นว่าแพงกว่ามาเลเซียและหลายประเทศเลย ยกเว้นสิงคโปร์กับบรูไน เรียกได้ว่าค่าแรงของเราสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในทางกลับกัน เราจะเห็นว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ยังจนอยู่ จากเหตุผลนี้ จึงขอฝากถึงรัฐบาลว่า เมื่อขึ้นค่าเเรง ก็ต้องควบคุมราคาสินค้าไปด้วย” นายวัชร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวัชร ระบุว่า การขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบมากเท่ากับครั้งในอดีต ที่ก้าวกระโดดจาก 200 บาทต้นๆ มาเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ

ซึ่งครั้งนั้น ถือเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุดของไทย ในสมัยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ปรับรูปแบบในการขึ้นค่าจ้างใหม่ จากเดิม “ปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ” เป็น 2 ช่วง คือในช่วงแรกปรับเพิ่ม 40% ก่อนในวันที่ 1 เม.ย. 2555 โดยมี 7 จังหวัดนำร่อง ที่ได้เพิ่มจนถึง 300 บาท คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ภูเก็ต และช่วงที่ 2 ทุกจังหวัดที่เหลือถูกปรับเป็น 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556

นายสมยศ วงษ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต ระบุว่า ค่าแรงของจังหวัดภูเก็ตนั้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่อยู่แล้ว พร้อมร้องขอให้ภาครัฐมองมุมกว้างและยื่นมือช่วยเหลือแรงงานให้ตรงจุด

“ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น วันละ 330 บาท หรือ 9,900 ต่อเดือนนั้นไม่มีผลกับเรา เพราะค่าแรงงานประมงอยู่ที่เดือนละ 11,000 บาทมานานแล้ว ทั้งยังได้รับสวัสดิการในด้านอาหารการกินและที่อยู่อาศัย” นายสมยศ กล่าว

“แต่ปัญหาที่พบล่าสุดก็คือ กฎหมายกำหนดให้แรงงานต่างด้าวจะต้องมีบัญชีธนาคาร ซึ่งหากไม่สามารถนำหลักฐานไปยืนยันว่าได้เปิดบัญชีให้ลูกจ้างแล้ว ศูนย์แจ้งเรือเข้าออกจะไม่ให้ออกเรือ ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องการค่าจ้างเป็นเงินสด เพราะท่าเรือไม่มีตู้เอทีเอ็ม หากข้ามไปกดเงินในตลาดต้องเสียเงินค่าเดินทางอีก 100 บาท” เขากล่าว

ทางด้าน นายขัตติยะ แพนเดช จัดหางานจังหวัดภูเก็ต ปฏิเสธที่
จะออกความเห็นในเรื่องดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า ในขณะนี้ การปรับค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากเรื่องนี้เพิ่งจะผ่านการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ต่อจากนี้ต้องรอให้เข้าครม. อีกครั้ง จึงจะออกมาเป็นข้อบังคับใช้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดใช้เกณฑ์วัดจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นตัวกำหนดหลัก และยืนยันว่าเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบจากการเห็นพ้องต้องกันของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง และจากนี้จะนำข้อสรุปเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพิจารณาเห็นชอบ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่