โดยมีนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้งนี้ จากสถานการณ์ “เอลนิโญ” ที่เกิดขึ้น คาดการณ์ว่าจังหวัดภูเก็ตจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวจนถึงปี 2567 ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องหารือเพื่อพิจารณามาตรการในการรับมือจากผลกระทบดังกล่าว
สถานการณ์น้ำภูเก็ต ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 19.70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 91.50 ของความจุ 21.53 ล้าน ลบ.ม. และจะเก็บกักน้ำดังกล่าวสำหรับฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว
ในส่วนของแผนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ตได้เตรียมมาตรการไว้ ได้แก่ 1. สูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำสาธารณะ 2. ซื้อน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชน (ขุมน้ำเดิม) 3. ซื้อน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชน (ขุมน้ำใหม่) 4. เพิ่มอัตราการซื้อน้ำเอกชน 5. วางท่อส่งน้ำเชื่อมโยงพื้นที่จ่ายน้ำ 3 สถานีหลัก 6. โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพังงา – ภูเก็ต วงเงินงบประมาณ 4,673.970 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งแผนงานเป็น 2 ระยะ
ในการนี้ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้แนวทางการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรน้ำไว้ โดยให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ จัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว และในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะสั้น เช่น การสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำสาธารณะ การซื้อน้ำดิบจากขุมเหมืองเอกชน เป็นต้นนั้น ให้ดำเนินการทันที
ในส่วนของระยะกลาง เช่น โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพังงา – ภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ประเภทเงินอุดหนุนรัฐบาล โดยให้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณสามารถดำเนินการได้ทันที
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น โครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังจังหวัดภูเก็ตนั้น ให้การประปาส่วนภูมิภาคนำผลการศึกษาแล้วเสร็จมาพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ได้นำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวแล้ว
นายโสภณ ยังให้คำแนะนำต่ออีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน โดยให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขอให้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และติดตามการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เป็นประจำทุกเดือน
และโอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีการร่วมพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีมติเห็นชอบจำนวน 69 โครงการ วงเงิน 1,218.1238 ล้านบาท และไม่เห็นชอบ 21 โครงการ วงเงิน 460.892 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่พร้อมดำเนินงานและไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ในการนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานจังหวัดภูเก็ตในฐานะฝ่ายเลขานุการจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานจังหวัดภูเก็ตยืนยันนำส่งข้อมูลแผนปฏิบัติการ (Sing off 2) เพื่อให้ประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ตลงนามต่อไป