ภูเก็ตเตรียมนับถอยหลังคืนข้ามปี ดื่มได้ภายใต้เงื่อนไข เข้มมาตรการเข้างานเคาท์ดาวน์

ภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตจัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 63/2564 กำหนดให้ทุกพื้นที่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันส่งท้ายปีเก่า ภายใต้เงื่อนไขที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ส่วนกลางกำหนด

ข่าวภูเก็ต

วันพฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2564, เวลา 11:16 น.

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ครั้งที่ 63/2564 หารือมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีการพิจารณาในประเด็นมาตรการการปิดสถานที่เสี่ยงในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์

นายพิเชษฐ์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า สถานบริการเช่นคาราโอเกะยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ สำหรับการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ศบค.กำหนดให้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทุกพื้นที่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ ร้านอาหารที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเทอย่างเพียงพอสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงช่วงเวลา 01.00 น. ร้านอาหารที่อยู่ในตัวอาคาร มีเครื่องปรับอากาศ (แอร์) และมีอากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ กำหนดให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงช่วงเวลา 23.00 น. เท่านั้น ส่วนร้านอาหารทั่วไปที่ไม่ได้มีการดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเปิดได้ตลอดเวลาตามปกติ

ในส่วนของการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ในคืนวันที่ 31 ธันวาคมที่ปลายแหลมสะพานหิน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 3,700 คน ทาง ททท. ได้วางมาตรการในการป้องกันโรค โดยจะให้ผู้เข้าร่วมงานลงทะเบียนจองผ่านทางออนไลน์แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับการลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งในการลงทะเบียนจะมีการคัดกรองผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสตามมาตรการ และผู้ที่ได้ทำการจองไว้ทั้งหมด จะต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธี ATK หรือRT- PCR หลังจากนั้นให้นำผลมายื่นและแสดงข้อมูลด้วยแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อให้ผู้ดูแลบริเวณจุดเข้า-ออกงานได้ตรวจสอบ ในส่วนของรายละเอียดการจัดกิจกรรมทางจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันวางแผนในการจัดโซนที่นั่งและทางเข้า-ออก ให้แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในการจัดกิจกรรม รวมถึงวางแผนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลานจอดรถ ห้องน้ำ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีการเสนอหารือแก่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

“สำหรับในเรื่องของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่จะต้องกักตัว 14 วัน จังหวัดภูเก็ตก็มีมาตรการที่กำหนดไว้คือต้องมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะต้องตรวจเชื้อบริเวณสนามบินภูเก็ต ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่ 2 คือการตรวจหาเชื้อช่วงก่อนที่จะครบกำหนด 7 วัน ซึ่งตามเดิมจะเป็นการตรวจด้วยวิธี ATK แต่ถ้าเป็นการกักตัวแบบ 7 วันจะต้องมีการตรวจแบบ RT- PCR ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมของโรงแรม โดยทำข้อตกลงกับทางโรงพยาบาลในการกำหนด 5 ศูนย์บริการเพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตรวจได้ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมี ประสบการณ์ในการบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าว อยู่แล้ว จึงสามารถดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่