ภูเก็ตเตรียมวิ่งหนีคลื่นยักษ์หาดป่าตอง เล่นใหญ่ระดับภูมิภาค เตือนประชาชนอย่าตกใจ

ภูเก็ต - ภูเก็ตเข้าร่วมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) ซึ่งจะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย

ซาลิมา โต๊ะหมาด

วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน 2562, เวลา 17:49 น.

แฟ้มภาพฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ / ภาพ ทรภ.3

แฟ้มภาพฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ / ภาพ ทรภ.3

โดยจะมีการทดสอบแผนเผชิญเหตุสึนามิระดับจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ในด้านการประสานงาน สั่งการ ในการจัดการสถานการณ์ของศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยในระดับประเทศ ภูมิภาคและจังหวัด และการบูรณาการการปฏิบัติ ในการใช้ทรัพยากร เครื่องมือ กำลังพลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจิตอาสาในการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

ซึ่งจะมีทั้งการฝึกแบบบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX), การฝึกเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise : FEX) และฝึกปฏิบัติ (Drill) โดยทุกกิจกรรมมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบคลุมตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย การอพยพ การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือเยียวยา และการฟื้นฟู รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนจิตอาสา

วันนี้ (20 มิ.ย.) นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต จะมีการฝึกปฏิบัติ (Drill) การแจ้งเตือนและการอพยพไปยังจุดปลอดภัย ในวันอังคารที่ 25 มิ.ย. เวลา 13.30 น. ที่บริเวณชายหาดป่าตอง โดยจะมีเปิดสัญญาณเตือนภัย แจ้งให้ประชาชนอพยพจากบริเวณหาดป่าตอง (ลานหน้าศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว) ไปยังจุดรวมพลและจุดปลอดภัย ณ ลานห้างสรรพสินค้าจังซีลอน ซึ่งงานนี้จะผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมจำนวนทั้งสิ้น 400 คน ได้แก่ ผู้นำชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการสถานประกอบการในพื้นที่ นักเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณคีรีวงศ์และโรงเรียนเทศบาลเมืองป่าตอง (บ้านไสน้ำเย็น) และประชาชนจิตอาสา

สำหรับสถานการณ์หลักในการฝึกจำลองเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ที่ความลึก 10 กม. บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ มหาสมุทรอินเดีย และมีคลื่นสึนามิเข้าถล่มชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามันของไทย ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมาพบว่าระบบการสื่อสารหลักทุกชนิดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้การได้ ระบบสาธารณูปโภคตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันในระยะ 2 กิโลเมตร ถูกตัดขาด ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและสูญหาย มีเด็กจำนวนหนึ่งกลายเป็นเด็กกำพร้า และคลื่นสึนามิยังได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศตลอดแนวชายฝั่งทะเลไทยด้านอันดามัน ส่วนมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้

สำหรับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าตองได้รับทราบ นายประพันธ์กล่าวว่า ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ทั้งในส่วนของการติดตั้งป้ายไวนิลภาษาไทย-อังกฤษจำนวน 8 จุดทั่วพื้นที่ รถแห่ประชาสัมพันธ์ภาษาไทย-อังกฤษ และแผ่นพับภาษาไทย-อังกฤษ โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนบางลาและชายหาดป่าตอง เพื่อเป็นการแจ้งเตือนแผนฝึกซ้อมในครั้งนี้ และลดความตื่นตระหนกหากได้ยินเสียงการแจ้งเตือนภัย

โดยในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. จะมีการจัดประชุมขึ้นที่ป่าตอง เพื่อซักซ้อมแนวทางการแจ้งเตือนภัยสึนามิและอพยพไปยังจุดปลอดภัย ณ ห้องประชุมพระพีศิษฐ์กรณีย์ ชั้น 3 สำนักงานเทศบาลเมืองป่าตอง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่