ม.อ.ภูเก็ต เผยโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจภูเก็ต คาด 7 เดือนเสียหาย 7 หมื่นล้าน

ภูเก็ต – วันนี้ (12 มี.ค.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจาก COVID-19” หรือ COVID-19 Phuket Economic Impact (FEB 2020) ซึ่งจากผลการวิจัยคาดว่าในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2563 ภูเก็ตอาจได้รับผลกระทบจนทำให้สูญเสียรายได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท กุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียวประเมินมูลค่าความเสียหาย 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท

คุณัญญา วันชาญเวช

วันพฤหัสบดี ที่ 12 มีนาคม 2563, เวลา 17:03 น.

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต

ดร.ชยานนท์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคณะการบริการและการท่องเที่ยว ม.อ.ภูเก็ต เสนอผลกระทบทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม ตั้งสมมุติฐานจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะหายไปเพียงชาติเดียว ซึ่งผลวิจัยในตอนนั้นระบุว่า ภูเก็ตอาจจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงสุดกว่า 30,000 - 32,000 ล้านบาท

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์โควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อทุกชนชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต จึงได้ทำการสำรวจใหม่ ซึ่งผลวิจัยในตอนนี้ระบุว่า ภูเก็ตอาจจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงสุดกว่า 7 หมื่นล้านบาท

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง จากข้อมูลที่ได้รวบรวมมา ความเสียหายในเดือน ก.พ. จากข้อมูลจากผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต หดตัวลงอย่างมาก กว่าร้อยละ 37.91 (28 วัน) เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ก.พ. 62 จะอยู่ที่ 19,085 คนต่อวัน แต่ของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 11,850 คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งสรุปแล้วตลอดเดือน ก.พ.นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงถึง 202,565 คน” ดร.ชยานนท์ กล่าว

คิดเป็น 27-37% ความเสียหาย 1.2-1.5 หมื่นล้าน โดยคิดจากความเสียหายของ 6 ธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถูกกระจายเป็นโรงแรม -4.6 พันล้านบาท ร้านอาหาร -2.9 พันล้าน ร้านค้า -2.6 พันล้าน การเดินทางทางบก -2.0 พันล้าน สถานที่ท่องเที่ยว -1.8 พันล้าน และธุรกิจบันเทิง -1.7 พันล้านบาท

“นอกจาก 6 ธุรกิจการท่องเที่ยวแล้ว การที่นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาภูเก็ตยังส่งผลต่อธุรกิจอื่นๆ อีกมาก เช่น ธุรกิจทางน้ำ การท่องเที่ยวทางเรือ ซึ่งอาศัยนักท่องเที่ยวเป็นหลัก หากไม่สามารถควบคุมได้โดยเร็ว ผู้ประกอบการตรงส่วนนี้อาจไม่สามารถอยู่ต่อไปได้” ดร.ชยานนท์ อธิบาย

ผลวิจัยชี้ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากเดือน เม.ย.เป็นต้นไป

“ดูจากสถานการ์ณของจีนตอนนี้ที่เริ่มควบคุมได้การแพร่ระบาดได้แล้ว หลังจากเดือนเม.ย. คาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่หากยังไม่สามารถควบคุมได้ ความเสียหายอาจเพิ่มมากขึ้นจนเป็นแสนล้านบาทได้” ดร.ชยานนท์ กล่าว

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ได้กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต พึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุสถานการณ์เช่นนี้ จึงทำใหได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อเกิดเหตุการณ์มันเกิดแล้ว อยากให้นำมาเป็นบทเรียน และควรมองหาเส้นทางรายได้ประเภทอื่นมาเสริม แทนที่จะพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่