ย้ายลิงไม่ย้ายลิง ลงเกาะหรือไม่ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.นี้

ภูเก็ต – สืบเนื่องจากการประชุมตามโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน ครั้งที่ 8/2561 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจัดแถลงข่าวแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลิงแสมและลิงกังในจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการจะยึดเอาผลสรุปจากการทำประชาพิจารณ์ และความต้องการของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ

ข่าวภูเก็ต

วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤษภาคม 2561, เวลา 11:44 น.

ในโอกาสเป็นประธานการแถลงข่าวโดยมี นายสนิท ศรีวิหค, นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว หัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายนรภัทร กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็น 1 ใน 12 จังหวัดนำร่อง การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจากปัญหาลิงแสมและลิงกังทำลายทรัพย์สินและสร้างความเดือดร้อน ทำร้ายประชาชนและนักท่องเที่ยว เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงแสมและลิงกังในจังหวัด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อบูรณาการทำงานเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ภายใต้กรอบแนวทางประชารัฐรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ตรงความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ในเรื่องนี้ นายพงศ์ชาติ รายงานข้อมูลว่า จังหวัดภูเก็ตมีปัญหาลิงจำนวน 7 แห่ง ลิงแสม 5 แห่ง มีจำนวนรวม 600 ตัว ได้แก่ในพื้นที่ ได้แก่ ท่าเรือบางโรง บ้านยามู ซอยท่าจีน กิ่งแก้วซอย 9 และเกาะสิเหร่ ส่วนลิงกัง 2 แห่ง มีจำนวนรวม 500 ตัว ได้แก่ในพื้นที่ เขารังและเขาโต๊ะแซะ

การแก้ไขปัญหา คือ ติดตามพฤติกรรมลิง พบปะชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทั้ง 7 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจและรายงานความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน โดยได้สำรวจข้อมูลเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยจำนวน 5 เกาะ ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะแพ เกาะทะนาน และเกาะมาลี พบว่ามีพืชอาหารสัตว์และสัตว์ทะเลอุดมสมบูรณ์ (ปู หอย)

รวมถึงการวางแผนควบคุมจำนวนประชากรลิงแสมและลิงกังในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณที่มีนักท่องเที่ยว (เขารัง, เขาโต๊ะแซะ, เกาะสิเหร่) จะมีป้ายเตือน 4 ภาษาคือภาษาไทย อังกฤษ จีนและรัสเซีย เนื่องจากบางครั้งนักท่องเที่ยวเองที่ทำให้ลิงเหล่านั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 11 ข้อ เช่น ระวังลิงกัด, อย่านำอาหารและทรัพย์สินไว้ที่รถจักรยานยนต์และนอกรถยนต์ ส่วนข้อที่ 12 ที่จะเพิ่มเข้ามาคือ “ระวังโรคติดต่อจากลิง”

ทางจังหวัดจะทำการเคลื่อนย้ายลิงไปปล่อยตามธรรมชาติยังเกาะต่าง ๆ หากประชาชนเห็นพ้อง โดยจะไม่มีการรวมฝูงอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งติดตั้งเก็บกักน้ำปริมาณ 3 พันลิตรไว้บนเกาะอีกด้วย

ส่วนการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนได้ดำเนินการไปแล้วคือ เวทีที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ร.9 / เวทีที่ 2 มีขึ้นในวันนี้ (24 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ ศูนย์ประชุมคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดภูเก็ต

สำหรับเวทีที่ 3 จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ บริเวณหอฉันวัดเจริญสมณกิจ(วัดหลังศาล) / เวทีที่ 4 ในวันเสาร์ที่ 27 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ บริเวณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติกิ่งแก้วพัฒนา และเวที 5 จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 28 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ บริเวณพระอุโบสถชั้นล่าง วัดเขารังสามัคคีธรรม กำหนดวางแผนในการดักจับ ทำหมันและดำเนินการตามผลประชาพิจารณ์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

“ลิงจะต้องลงเกาะภายใน 30 มิถุนายนนี้ หรือหากชาวบ้านต้องการให้ปล่อยไว้ที่เดิม ทางจังหวัดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนเช่นกัน”

นายพงศ์ชาติ ยืนยันว่า การจัดการปัญหาความเดือดร้อนนี้ประชาชนคือผู้ตัดสิน ทางจังหวัดมีหน้าที่เพียงดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา 100% ซึ่งหากชุมชนใดเห็นพ้องให้ย้ายลิงส่วนเกินออกไปยังเกาะที่ทำการสำรวจ ทางจังหวัดก็จะดำเนินการตรวจสอบดูแลลิงเหล่านั้นว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามธรรมชาติหรือไม่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงการตรวจสอบถังน้ำสำหรับลิงด้วย เพื่อเป็นแผนรองรับอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ตนเองไม่ห่วงกับปริมาณน้ำฝนมากนัก เพราะภูเก็ตฝนตกเกือบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว โดยหลังจาก 3 เดือนทางท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบ

โอกาสนี้จังหวัดภูเก็ต ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น ในวันและเวลาดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดจากความมีส่วนร่วมความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพราะแนวทางการอพยพลิงบางส่วนไปยังพื้นที่เกาะที่ทำการสำรวจแล้วและมีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยลิงสู่ธรรมชาติหรือไว้ที่เดิม ขึ้นอยู่กับผลการประชาพิจารณ์ และความต้องการของคนในพื้นที่

แหล่งที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่