ศรชล.จับกุมเรือ IUU สัญชาติแคเมอรูน เตรียมดำเนินคดีเจ้าของเรือชาวไทย

ภูเก็ต - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยกองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมบูรณาการในการจับกุมเรือชื่อ “Uthaiwan” สัญชาติแคเมอรูน ตามที่แสดงในระบบรายงานตนอัตโนมัติ(AIS-Automatic Identification System) โดยเรือดังกล่าวเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนาด 3,000 ตันกรอส โดยถูกจับกุมในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต (ห่างฝั่งระยะ 7 ไมล์ ทางทิศตะวันตกของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต)

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 16 กันยายน 2562, เวลา 10:02 น.

โดยมี พลเรือโท รณภพ กาญจนพันธุ์ ผอ.ศยก.ศรชล. ผู้แทน ผอ.ศรชล. พลเรือตรี วิธนรัชต์ คชเสนี รอง ผอ.ศรชล.ภาค 3 ผู้แทน ผอ.ศรชล.ภาค 3 พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการ สำนักงานกฎหมายและคดี ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล ปลัดจังหวัดภูเก็ต ผู้แทน ผอ.ศรชล.จังหวัดภูเก็ต และพันตำรวจเอก นิกร สมสุข ผกก.สภ.วิชิต ร่วมแถลงข่าวรายละเอียดการจับกุม ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 เวลา 16.00 น.

สำหรับการจับกุมเรือ Uthaiwan ในครั้งนี้ พล.ร.ท.รณภพ กล่าวว่า กรมประมงได้รับประสานจากเครือข่ายองค์กรในระดับสากลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวัง การทำประมงผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ(OceanMind) คาดว่าเป็นเรือที่ถูก IOTC ประกาศว่าเป็นเรือ IUU โดยชื่อ “WiSDOM SEA REEFER” สัญชาติ Honduras กรมประมงจึงให้ศูนย์ FMC ติดตามเรือลำดังกล่าวทางระบบ AIS ตั้งแต่เรือออกจากท่าเรือที่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 2 ก.ย.62 เรือลำดังกล่าวได้เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศมาเลเซีย และในวันที่ 12 ก.ย.62 เรือลำดังกล่าวได้แล่นเข้ามาในน่านน้ำไทยโดยไม่มีการแจ้งกรมเจ้าท่า และต่อมาเรือลำดังกล่าวได้ปิดระบบ AIS ทำให้ศูนย์ FMC ไม่สามารถติดตามเป้าหมายได้ จึงได้ประสานให้ ศรชล.ติดตามเรือต้องสงสัยดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายใน ศรชล. รวมถึงภาคเอกชนด้วย ต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

พล.ร.ต. วิธนรัชต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยจัดตั้ง ศปมผ.โดยให้ กองทัพเรือ และ ศรชล.เป็นหน่วยงานหลักของ ศปมผ. ในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งบูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งผลการจับกุมได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่วนวิเคราะห์และประเมินผลของกรมประมงได้ตรวจพบสัญญาณ AIS ของเรือ HONOR (ชื่อที่สอง) ชื่อเดิม WISDOM SEA REEFER (ชื่อที่หนึ่ง) และแจ้งจดชื่อเรือในระบบชื่อเรือ UTHAIWAN (ชื่อท้ายเรือ) ชักธงสัญชาติ ออนดูรัส เป็นเรือที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย IUU มีพฤติกรรมขนถ่ายสัตว์น้ำจากเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ทางด้านทิศใต้เกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต และได้แจ้งข้อมูลให้ ศรชล.ภาค 3 ทราบ การนี้ พล.ร.ท.สิทธิพร มาศเกษม ผบ.ทรภ.3ในฐานะ ผอ.ศร.ชล.เขต 3 ได้สั่งการให้จัด เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 232(เรือ ต.232) ออกเรือลาดตระเวนค้นหา และพิสูจน์ทราบเป้าหมาย รวมทั้งจัดเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบที่ 4 บินลาดตระเวนตรวจสอบ ร่วมกับหน่วยงานใน ศรชล.ภาค 3 ทั้งนี้เรือเป้าหมายได้จางหายไปและตรวจไม่พบเรือลำดังกล่าว

จากนั้น 13 ก.ย.62 ได้ตรวจพบสัญญาณ AIS ของเรือลำดังกล่าวบริเวณทิศตะวันตกของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ระยะประมาณ 7 ไมล์ พล.ร.ท.สิทธิพร จึงได้สั่งการให้ เรือหลวงศรีราชา เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 113 (เรือ ต.113) ออกเรือลาดตระเวนค้นหา และพิสูจน์ทราบเป้าหมาย และจัดชุดตรวจค้นเรือร่วมกับชุดสหวิชาชีพจากหน่วยงานใน ศรชล.ภาค 3 บูรณาการกำลังกันขึ้นตรวจค้นเรือลำดังกล่าว

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเรือที่อยู่ในบัญชี IUU มีลูกเรือจำนวน 8 คน เป็นชาวไทยทั้งหมด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนําเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่มีการทําการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร จึงได้ควบคุมเรือลำดังกล่าวมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อให้ชุดสหวิชาชีพ ประกอบด้วย ประมงจังหวัดภูเก็ต ด่าน ตม.ภูเก็ต ด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดภูเก็ต กก.8 บก.รน. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต และหน่วยสืบสวนปราบปราม ศุลกากร (ภูเก็ต) ทำการตรวจค้นอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ด้านอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การปฏิบัติการเป็นการบูรณาการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ทั้งจาก OceanMind กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และที่สำคัญที่สุดคือ “ภาคประชาชน” จังหวัดภูเก็ตที่อนุญาตให้ใช้ “เรือธัญวิสิทธิ์ 5” และพร้อมออกปฏิบัติการได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่ศูนย์ FMC ประสานไป ซึ่งภารกิจครั้งนี้หากขาดภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งแล้วคงไม่สามารถจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี เหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ขีดความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

พล.ต.ต.จารุวัตร กล่าวถึงการดำเนินคดีว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบเจ้าของเรือลำดังกล่าวมีคนไทยเป็นเจ้าของเรือ ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าใคร หลังจากนี้ ทางตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยในส่วนของกฎหมายเจ้าท่า มีความผิดนำเรือไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาในน่านน้ำไทย ขณะที่กฎหมายประมงนำเรือที่อยู่ในบัญชี IUU เข้ามาในน่านน้ำไทย และความผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ในข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง

สำหรับคดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่พบเรือทำผิดเกี่ยวกฎ IUU คดีแรกเป็นเรือประมงสัญชาติโซมาเลีย ซึ่งเป็นเรือที่ทำผิดในน่านน้ำไทย ศาลสั่งปรับ 500 ล้านบาท และคดีนี้เป็นคดีที่ 2 ซึ่งได้สั่งการให้โอนคดีไปยังส่วนกลางเนื่องจากมีความชำนาญ และจะทำให้การดำเนินคดีมีความรวดเร็วขึ้น

จากผลสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการและการสนธิขีดความสามารถของทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ศรชล. จึงเป็นหน่วยงานในการบูรณาการขีดความสามารถของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล ให้เกิดพร้อมที่จะตอบสนองต่อแนวโน้มภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจากจำนวนกิจกรรมทางทะเลที่จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่