ศรชล.เขต 3 เปิดฝึกปฏิบัติการร่วม 'การตรวจเยี่ยมและตรวจค้นเรือต้องสงสัย' 2561

ภูเก็ต – วันนี้ (20 เม.ย. 61) พลเรือโท สมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3(ศรชล.เขต 3) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล.เขต 3 ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในหัวข้อ “การตรวจเยี่ยมและตรวจค้นเรือต้องสงสัย” ระหว่าง 20 - 25 เม.ย. ทำการฝึกบริเวณพื้นที่ทางทะเลจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันศุกร์ ที่ 20 เมษายน 2561, เวลา 16:57 น.

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบการประสานการปฏิบัติในการรักษากฎหมาย (LAW ENFORCEMENT) แนวทางการปฏิบัติในการตรวจค้นเรือต้องสงสัยในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 การจัดชุดสหวิชาชีพขึ้นทำการตรวจสอบวัตถุอันตราย ขีดความสามารถของหน่วยงาน

พลเรือโท สมนึก (ผบ.ทรภ.3) กล่าวภายหลังจากพิธีเปิดว่า ปัจจุบันภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเลที่เผชิญอยู่มีหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่หน่วยงานความมั่นคงทางทะเลต้องมีการบูรณาการและประสานการปฏิบัติระหว่างกันอย่างใกล้ชิด จะดำเนินการโดยหน่วยใดหน่วยหนึ่งเพียงลำพังไม่ได้ การรักษาความมั่นคงด้านฝั่งทะเลอันดามัน โดยผ่านกลไกของศรชล.เขต 3

“หน่วยงานของเราทั้ง 6 หน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกัน เพราะการทำงานมันมีหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น IUU หรือ การรักษาผลประโยชน์ทางทะเล การฝึกร่วมในครั้งนี้คือการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุการณ์หรือกรณีที่มีเรือใหญ่เข้ามา เรือต่างประเทศเข้ามา หรือได้รับข่าวสารว่ามีวัตถุอันตรายเข้ามา เราก็จะได้ช่วยกันสกัดกั้นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกซ้อมในเรื่องต่าง ๆ จึงมีความจำเป็น ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา เช่น การทำงานของทหารเรือแบบหนึ่ง กรมประมงเป็นอีกแบบ ทางเจ้าท่าก็มีขั้นตอนที่แตกต่างออกไป เราจึงต้องมาร่วมบูรณาการทำงานเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เวลามีเหตุการณ์เราก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น” พลเรือโท สมนึก กล่าว

การอำนวยการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการติดตามภาพสถานการณ์ เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานใน ศรชล.เขต 3 ให้มีประสิทธิภาพมีกำลังที่เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย

1. เรือจากกองเรือปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 จำนวน 3 ลำ
2. เรือจากกองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ หน่วยสืบสวนปราบปรามภูเก็ต กรมศุลกากร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ภูเก็ต และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 กระบี่ หน่วยละ 1 ลำ
3. เฮลิคอปเตอร์ จากหมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 3 จำนวน 1 ลำ
4. ชุดปฏิบัติการพิเศษทัพเรือภาคที่ 3 จำนวน 1 ชุด
5. ชุดสหวิชาชีพจากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ จำนวน 1 ชุด

สำหรับการเข้าร่วมการฝึกในทะเลด้านการตรวจค้นในเรือและการช่วยเหลือนั้น สถานการณ์ฝึกเฉพาะที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. คือในเวลา16.00 น. ศรชล.ได้รับแจ้งเตือนจากมิตรประเทศว่ามีกลุ่มชาวตะวันออกกลางวางแผนลักลอบนำวัตถุต้องห้าม CBRN เข้าประเทศไทยด้วยเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ชื่อ DOLPHIN ลักษณะตัวเรือสีขาว มีลานจอด ฮ.บนดาดฟ้าเรือ ซึ่งเรือออกเดินทางจากประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พร้อมผู้โดยสารจำนวน 1,250 คน และกำหนดเข้าจอดท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ในวันที่ 25 เม.ย. เวลาประมาณ 10.00 น. ศรชล. จึงให้ ศรชล.เขต 3 จัดกำลังเข้าทำการสกัดกั้นและตรวจสอบเรือท่องเที่ยวดังกล่าวให้ได้ก่อนที่เรือจะเข้าจอดที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต

จากนั้นในขั้นตอนการปฏิบัติการฝึกสาธิต ศรชล.เขต 3 ได้ตรวจสอบกับ สนง.เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต การเข้าจอดของเรือต้องสงสัยที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ใน 25 เม.ย. เวลาประมาณ 10.00 น. โดย ศรชล.เขต 3 ได้พล๊อตติดตามเป้าหมายจากระบบ AIS ซึ่งพบว่ายังคงแล่นอยู่ในช่องแคบมะละกา คาดว่าจะเข้าเขตน่านน้ำไทยในวันที่ 25 เม.ย. เวลา 02.00 น.

ศรชล.เขต 3 จึงได้บูรการกำลังเพื่อเข้าตรวจสอบเรือที่ต้องสงสัย ซึ่งศรชล.เขต 3 สั่งการให้ ร.ล.นราธิวาส เป็น ผบ.ในพื้นที่ และกำหนดพื้นที่การค้นหาให้เรือต่าง ๆ รับผิดชอบ บริเวณทิศตะวันตกของเกาะราชาน้อย ประมาณ 12 ไมล์ทะเล ตั้งแต่ 25 เม.ย. เวลา 06.00 น. ก่อนที่เรือต้องสงสัยจะเข้าท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งศรชล.เขต 33 ให้ บ.ลว.1 ขึ้นบิน ลว.ค้นหาในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ตรัศมี 50-100 ไมล์ทะเลในเวลา 05.30 น.

06.15 น. บ.ลว.1 รายงานพบเรือต้องสงสัย บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะราชาน้อย ประมาณ 45 ไมล์ทะเล กำลังวิ่งเข้าฝั่งที่ จว.ภูเก็ต จากนั้น ร.ล.นราธิวาส ปรับแผนการปฏิบัติ และจัดเตรียมชุดปฏิบัติการพิเศษ และชุดสหวิชาชีพจากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมขึ้นทำการตรวจค้นเรือต้องสงสัย ซึ่งเรือ ตรน. รายงานพบเรือต้องสงสัยระยะ 5 ไมล์ทะเล เวลา 07.00 น. โดยเรือต้องสงสัยเดินทางเข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่กำหนด (ในน่านน้ำไทย) เวลา 10.30 น.

จากนั้น ร.ล.นราธิวาส ติดต่อเรือ DOLPHIN ทาง MARINE BAND CH.16 ให้หยุดเรือและแจ้งความต้องการขึ้นตรวจค้น เรือ DOLPHIN แจ้งข้อมูลเรือลูกเรือ ประกอบด้วย ผู้โดยสารจำนวน 1,200 คน เป็นชาวยุโรป 100 คน ชาวจีน 900 คน ชาวสิงคโปร์ 50 คน ชาวอินเดีย 50 คน และชาวตะวันออกกลางจำนวน 100 คน (โดยชาวตะวันออกกลาง นั้นมีชาว กาตาร์ 20 คน คูเวต 20 คน ซาอุ 20 คน ชาวสหรัฐอาหรับฯ 30 และอิหร่าน 10 คน) สำหรับลูกเรือมีทั้งหมด 100 คน มีนายโธมัสชาวสวีเดนเป็นกัปตันเรือ

ศรชล. แจ้งเพิ่มเติมข้อมูลว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวอิหร่าน อายุระหว่าง 25-30 ปี จำนวน 5 คน ซึ่งจะมีรอยสักสัญลักษณ์พระจันทร์ครึ่งซีกที่บริเวณลำตัว จากนั้นเวลา 11.00 น. ชุดตรวจค้นและชุดสหวิชาชีพ ขึ้นเรือ DOLPHIN ซึ่งชุดตรวจค้นรายงานการพบกลุ่มผู้ต้องสงสัย และเกิดเหตุการณ์ขัดขืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยมีผู้ต้องสงสัย 1 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัสและมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องนำผู้บาดเจ็บส่งเข้ารับการรักษา

หลังจากนั้น ศรชล.เขต 3 สั่ง ฮ.ทร. ขึ้นเพื่อลำเลียงผู้บาดเจ็บบนเรือ DOLPHIN (ฮ. ทรภ.3) เวลา 11.30 น. ฮ.ทร.ลำเลียงผู้ป่วยลงจอดบน ร.ล.อ่างทอง โดยมีเรือใน ศรชล.เขต 3 เดินทางในรูปขบวนเรียงตามกันแล่นผ่านกราบขวา ร.ล.อ่างทองในเวลา 11.40 น.

“ที่ผ่านมานั้นทุกหน่วยงานของศรชล.เขต 3 ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่าง ๆ ยังจะต้องมีการซักซ้อมซ้อมเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกันเป็นปัจจุบัน” พลเรือโทสมนึก กล่าว

ผบ.ทรภ.3 ยังได้ยืนยันว่า การทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตและภายใต้พื้นที่ความรับผิดชอบทอง ทรภ.3 นั้นลดลง แต่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องติดตามดูแลควบคุมต่อไป

“เรื่องน่าเป็นห่วงตอนนี้ยังไม่มี นอกจากการติดตามและทำงานในเรื่อง IUU ซึ่งทาง EU เพิ่งตรวจไปแต่ยังไม่ทราบผล สำหรับในเรื่องนี้เราก็ได้มีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดีโดยทางศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (PIPO) ก็ยังร่วมกันทำงาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเรือไปลาดตระเวนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากเรือประมงกับทางบกว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจ” พลเรือโทสมนึก กล่าว

“สำหรับปัญหาอุปสรรค IUU ตอนนี้การกระทำผิดกฎหมายน้อยลง เพราะทุกอย่างมันเคลียร์ตั้งแต่อยู่บนบกแล้ว หากไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยเรือก็ออกไม่ได้ สำหรับการลาดตระเวนหรือที่เราไปกำกับดูแลในทะเลก็เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลตรงกับที่รับทราบจากรายงานมาจากบนฝั่งหรือไม่ ถ้าตรงกันจบแต่ถ้าไม่ตรงก็ถือว่าส่อพฤติกรรมในการทุจริตหรือผิดกฎหมาย เราก็จะมีการตักเตือนหรือให้มีการลงโทษตามกฎหมายต่อไป”

พลเรือโทสมนึก เล็งดำเนินการตรวจสอบเรือยอช์ทในน่านน้ำภายใต้ความรับผิดชอบของ ทรภ.3 มากขึ้นในอนาคต

“ถ้าเป็นไปได้เราอยากจะพูดคุยกับเรือยอช์ทด้วย เพราะตอนนี้เราไม่ได้ควบคุมดูแลในส่วนนี้ เนื่องจากมีศูนย์เรือยอช์ทที่ท่าเรือฉลองควบคุมอยู่แล้ว ทางศรชล.เพียงเฝ้าติดตามแต่ยังไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามีปัญหาเราก็จะลงไปดำเนินการ ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการควบคุมดูแลในส่วนของเรือยอช์ทด้วย”

“พื้นที่ฝั่งอันดามันยังปกติดี หลังจากที่ผมเข้ามารับหน้าที่ (1 เม.ย.) ก็ได้ทำการตรวจทุกหน่วย ซึ่งก็ยังไม่พบอุปสรรคสำคัญ ทางเราตามขั้นตอนข้อปฏิบัติของกฎหมายเพื่อกำกับดูแล ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความเข้าใจกับประชาชนกับชาวประมงว่าสิ่งที่รัฐบาลทำก็เพื่อพวกเขาเอง เนื่องจากเราละเลยมานาน”

สำหรับสถานการณ์โรฮิงยา พลเรือโทสมนึก ระบุว่าทางกองทัพเรือยังคงดำเนินการในด้านของมนุษยชนต่อไป

“ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มชาวโรฮิงยา เราเป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากมีเหตุการณ์หรือมีการผ่านเข้ามา เราก็แค่ประคับประคองให้เขาผ่านไปได้ด้วยดีเท่านั้นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการดำเนินการในด้านสิทธิมนุษยชน” พลเรือโทสมนึก กล่าวปิดท้าย

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่