‘ศาสตร์พระราชา’ สู่การเลี้ยงชีพและพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

บทความ - จากแม่ค้าส้มตำ สู่ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำ ‘ศาสตร์พระราชา’ มาปรับใช้ โดยการปลูกผักกินเองจนสามารถต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ นำไปสู่การพัฒนาชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เมืองแห่งสุขภาวะ’

Thaihealth

วันเสาร์ ที่ 10 มีนาคม 2561, เวลา 11:00 น.

เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่บทความ อันน่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของ นางดวงสมร วงศ์ยะรา หรือพี่แดง ปราชญ์ชาวบ้าน ประจำตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี

ผู้มีปัญหาสุขภาพจากการตำส้มตำค้าขายเป็นอาชีพหลัก หันมาดูแลสุขภาพด้วยการปลูกผักกินเอง โดยเริ่มจากผักสวนครัวที่ตนเองชอบเพื่อกินเองในครอบครัว แล้วจึงปลูกผักที่ตนเองไม่ชอบเพื่อแจกจ่าย และหัดกินเพื่อความหลากหลาย จนรู้สึกว่าสุขภาพของตนเองดีขึ้น จึงเริ่มปลูกมะกรูด เป็นอันดับแรก

“ในช่วงแรก แดง ลองผิดลองถูกตลอด เนื่องจากแดงไม่เคยทำอะไรมาก่อนเลย แต่เวลาทำอะไรผิด ในใจของแดงจะนึกเสมอว่า ‘พ่อช่วยแดงหน่อย’ พ่อที่แดงนึกถึงก็คือพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง แดงเลยตั้งใจว่าถ้าสิ่งที่แดงทำอยู่ สามารถทำให้แดงสุขภาพดีขึ้นได้จริง แดงจะขอสานต่อตามรอยพ่อตลอดไป” พี่แดง เล่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน

พี่แดง เล่าต่อไปว่า เมื่อก่อนจะทำงานในสวนทั้งวัน แต่ปัจจุบันได้ปรับเวลาการทำงานใหม่ โดยจะนอนตอนสามทุ่มเพื่อที่จะตื่นมาทำสวนตอนตีสอง และอาศัยไฟถนนจากทางเทศบาลในการมองเห็น ส่วนในสวนหลังบ้านจะเข้าไปตอนหกโมงเช้า และกลับมานอนพักอีกครั้งตอนบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมงเพื่อชดเชยแรงให้ตนเอง ส่วนการปลูกผักสวนครัวจะใช้น้ำหมักชีวภาพ และไม่ใช้สารเคมีในการไล่แมลง โดยให้เหตุผลว่า แมลงหนีการฉีดพ่นสารเคมีมาจากที่อื่น ตนก็เลยจะแบ่งให้พวกแมลงได้กินบ้าง

“เมื่อก่อนแดงใช้เวลาอยู่กับต้นไม้จนผู้คนรอบข้างต่างก็หาว่าแดงไม่เข้าสังคม แดงก็อธิบายไปว่า แดงยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แดงจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร” นางดวงสมร เล่าถึงครั้งแรกของการทำงานเพื่อสังคมต่อไปว่า “แต่พอสุขภาพของแดงดีขึ้น ก็ใช้สวนของตัวเองเป็นแหล่งเรียนรู้ของ กศน. แดงจะให้นักเรียนหัดตอนกิ่ง แล้วจำเอาไว้ว่าเป็นกิ่งของต้นไหน จากนั้นให้นำกลับไปปลูกต่อที่บ้าน เพื่อสานต่อตามรอยพ่อ ซึ่งก็ทำสำเร็จ เพราะนักเรียนถ่ายรูปส่งกลับมาให้ดูว่าได้ทำตามแบบแดงแล้ว” นางดวงสมร กล่าวด้วยรอยยิ้ม

นางดวงสมรเล่าถึงที่มาของต้นมะนาวไร้ใบว่า ตนเป็นคนที่เด็ดใบออกเอง เพราะในตอนแรกมะนาวต้นนี้ไม่มีลูกจึงทำการทดลองโดยการไม่รดน้ำ จนกระทั่งใบของต้นมะนาวห่อตัวเข้าหากันเลยแก้ไขด้วยการใส่จุลินทรีย์สังเคราะห์เข้าไปแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ส่งผลให้ต้นมะนาวออกดอกออกผลเต็มต้น จนถึงตอนนี้จึงทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่า หากเด็ดใบของต้นมะนาวทั้งหมดทิ้ง ใบจะแตกออกมาเยอะกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งการพัฒนาการเกษตรที่จะได้ผลจริงนั้นจะต้องลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า “...เกษตรกรรมนี้ หรือ ความเป็นอยู่ของเกษตรนั้น ขอให้ปฏิบัติ ไม่ ใช่ ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว...”

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อน และพัฒนาต้นแบบ จังหวัดราชบุรีสู่การเป็น ‘เมืองแห่งสุขภาวะ’ ภายใต้วิสัยทัศน์ ราชบุรี เมืองสังคมดี มีความสุข ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนางดวงสมรเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะพาให้ชุมชนของตนเองเป็นชุมชนต้นแบบตัวอย่างดังที่กล่าวมา

- ปรภัต จูตระกูล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่