สธ.กำหนด ‘โรคฝีดาษวานร’ เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคผีดาษวานร (Monkeypox) ว่า แพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกามาหลายปี แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มพบผู้ป่วยในประเทศแถบยุโรป มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกา ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ คือ เดนมาร์ก โมรอกโก และอาร์เจนตินา

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤษภาคม 2565, เวลา 13:16 น.

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade อัตราป่วย - ตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade มีอัตราป่วย - ตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย

ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมาก ๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง ระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 - 21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ช่วงออกผื่น 2 - 3 วันหลังมีไข้ ผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา และบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้

ประเทศไทย เตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบจัดโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมเตรียมการในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ไว้แล้ว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่