สั่งร่มเบาะหาดสุรินทร์ ออกจากพื้นที่ ภายใน 1 พ.ค.

ภูเก็ต - นายก อบต.เชิงทะเลยืนยันหากผู้ประกอบการไม่ยอมปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งมีการเฝ้าระวังการกลับมากระทำผิด ของผู้ประกอบการร่มชายหาด

เบญญาดา สูงใหญ่

วันจันทร์ ที่ 24 เมษายน 2560, เวลา 17:29 น.

บริการร่มและเบาะนอน ณ บริเวณชายหาดสุรินทร์ ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

บริการร่มและเบาะนอน ณ บริเวณชายหาดสุรินทร์ ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันนี้ (24 เม.ย. 60) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม POC ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในกรณีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ โดยมีนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมในครั้งนี้ พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยราชการท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการแจ้งเหตุการบุกรุก

โดยในการประชุมในครั้งนี้มุ่งไปในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ชายหาดสาธารณะในภูเก็ต ซึ่งโดยปกติแล้วชายหาดในภูเก็ตจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือชายหาดอนุรักษ์ มีทั้งหมด 33 หาด ชายหาดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก็คือ หาดสุรินทร์ และหาดจัดระเบียบ ซึ่งเป็นหาดที่มีการจัดโซนนิ่งที่ชัดเจน

นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล กล่าวว่า จากกรณีกลุ่มผู้ประกอบการการค้าหาดสุรินทร์จำนวน 36 คน ได้ร้องขอในเรื่องของการจัดโซนนิ่ง 10% บริเวณหาดสุรินทร์ โดยผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้มายื่นเรื่องกับตน พร้อมทั้งนำนักข่าวมาด้วย เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นั้น (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ตนได้แจ้งกลับไปว่าพื้นที่บริเวณหาดสุรินทร์ถูกจัดให้เป็นหาดเฉลิมพระเกียรติ ห้ามจัดโซนนิ่งโดยเด็ดขาด และทางอบต.เชิงทะเลไม่ได้มีอำนาจในการจัดการในส่วนนั้น หากต้องการร้องเรียนควรยื่นเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

“หากทางจังหวัดอนุญาต ก็จะทำการจัดโซนนิ่งให้ นอกจากนี้ เรายังได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามโดยในที่ประชุมได้มีการกำหนดให้ทำการเก็บร่มและเตียงทั้งหมดออกจากหาดสุรินทร์ภายในวันที่ 1 พ.ค. ส่วนในด้านการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น ทางอบต.ได้ทำการของบประมาณจำนวน 8 ล้านบาทในการจัดทำทางเท้าและรั้วเพื่อเสริมความเป็นระเบียบ”

“นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดให้มีตลาดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 36 ราย แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากสภา จึงอยากขอให้ทางสภาพิจารณาอนุมัติโครงการนี้อีกครั้ง ส่วนหาดบางเทายังคงทำการจัดโซนนิ่ง 10% ได้ตามปกติ” นายมาแอน กล่าว

ที่ประชุมในวันนี้ นายถาวรวัฒน์ยังได้สรุปข้อหารือเรื่องอื่นๆ เช่น กองทัพเรือภาคที่ 3 แจ้งมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้พิจารณาปัญหาผู้บุกรุกที่สาธารณะบริเวณหมู่ที่ 1 เกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง โดยมีการก่อสร้างอาคารสถานที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะจำนวน 4 หลัง และ ร้านค้าอีก 1 หลัง

รวมถึง อ.ถลาง ได้รับแจ้งจากอบต.สาคู ในกรณีพกการบุกรุกบริเวณหาดในยาง โดยได้มีนายวันเลิศ ประทีป ณ ถลาง ซึ่งเป็นผู้บุกรุกรายเก่า ทำการลงหลักปักรั้วเพื่อแสดงอาณาเขต และยังได้ติดป้ายที่ดินส่วนบุคคลโดยไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยอ้างสิทธิ์คำพิพากษายกฟ้องคดีแดงที่ 11504/2559 โดยในกรณีเดียวกันนี้ยังมีการยกฟ้องในพื้นที่ที่ติดกันอีก 1 ราย แต่ในรายดังกล่าว ศาลพิพากษาให้เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ครอบครองในที่ดินผืนนั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั้ง 2 กรณีนี้ทางอัยการจังหวัดได้ทำการนัดพูดคุยในเรื่องกฎหมายกับรองนายกอบต.สาคูนอกรอบในภายหลัง และทางปลัดจังหวัดจะนำเรียนเรื่องนี้ในที่ประชุมว่ากำลังอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์

และรวมไปถึง อัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดภูเก็ต (สคช.) แจ้งว่า นางชะลอ ลอยสมุทร ได้ทำการยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือให้เพิ่มตนเข้าไปในรายชื่อผู้ร้องเรียนในกลุ่มร่มหาดเมอริเดียน เนื่องจากตนเป็นผู้ประกอบการในบริเวณนั้นมาแต่เดิม แต่ภายหลังกลับไม่มีชื่อในกลุ่ม

ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีนี้ทางเทศบาลตำบลกะรนได้ให้คำอธิบายว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้สามารถจบลงได้อย่างง่ายมาก หากผู้ประกอบการในกลุ่มร่มนั้นได้เจรจาภายในกันก่อน เพราะทางกลุ่มร่มเองก็มีกฎกติกาส่วนตัว โดยไม่แน่ใจว่านางชะลอนั้นได้ทำการพูดคุยกันในกลุ่มมาก่อนหรือไม่ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงที่มีการลงชื่อร้องเรียนนั้น นางชะลอไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และมอบหมายให้บุตรหลานดูแลกิจการแทน และมีการจัดการลงชื่อไปเรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีนี้ ทางปลัดจังหวัดได้ของให้เทศบาลทำการตรวจสอบและพิจารณาอีกครั้งว่า ผู้ร้องขอมีสิทธิ์จริงหรือไม่ ผู้ร้องขอได้รับความเดือดร้อนมากน้อยเพียงใด และการการเข้ามาภายหลังสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ต่อไป

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมและให้ความเข้าใจที่ตรงกันกับแต่ละหน่วยงาน ก่อนที่จำมีการประชุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 26 เม.ย. นี้

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่