หนุ่มสุดทน! พบฉลามโรนินขายกลางตลาดสดภูเก็ต อ.ธรณ์บ่นเสียดาย ย้ำเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองปี 59 แต่เรื่องยังเงียบ

ภูเก็ต - หนุ่มถ่ายรูปฉลามโรนินโพสต์ระบายความในใจกับราคาขายแค่ 8 พันเทียบไม่ได้กับการมีชีวิตอยู่ใต้น้ำให้ผู้คนได้ดูแถมเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวหลายล้านบาท อาจารย์ธรณ์เผยทั้งชีวิตตนเคยเห็นปลาชนิดนี้ตัวเป็นๆ ใต้น้ำเพียงครั้งเดียว

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2560, เวลา 10:00 น.

ภาพ: เฟซบุ๊ก Unjunior Phuket

ภาพ: เฟซบุ๊ก Unjunior Phuket

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Unjunior Phuket” ได้โพสต์ภาพปลารูปร่างประหลาดคล้ายปลากระเบนผสมปลาฉลาม พร้อมระบุข้อความว่า “ฉลามโรนิน หรือกระเบนท้องน้ำ ตัวนี้นอนอยู่ที่แผงขายปลาในตลาดด้วยค่าตัว 8,000 บาท แต่ถ้ามันได้แหวกว่ายในท้องทะเล จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากเข้ามาดำน้ำดูมันได้เป็นมูลค่ากี่ล้านบาท? #จะกี่บาทมันก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี #RIP”

ทั้งนี้ หลังมีการโพสต์ภาพดังกล่าวทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ได้สอบถามสถานที่ซึ่งผู้โพสต์ได้ตอบไว้ว่าจุดที่พบเป็นตลาดนาบอน ต.ฉลอง ขณะที่บางส่วนกล่าวแสดงความเสียดาย และมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลามเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพดังกล่าวมากกว่า 800 ครั้ง ทั้งยังมีผู้คนร่วมกดไลค์และแสดงอารมณ์ความรู้สึกเสียใจปนโกรธที่ได้เห็นโพสต์นี้มากกว่า 3000 คน

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 9 ส.ค.60 ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า Thon Thamrongnawasawat หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมข้อความระบุว่า “#การรอคอยอันยาวนาน ปรกติอาจารย์ธรณ์เป็นคนที่มีความอดทนสูง อีกทั้งเป็นข้าราชการมาตลอด พอเข้าใจว่าระบบบางทีมันก็ใช้เวลา แต่เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น บางหนมันก็ยากทำใจ ดังเช่นภาพปลาโรนินที่ถูกจับมาขายที่ภูเก็ต โรนินเป็นปลาหายากมาก ทั้งชีวิตผมเคยเห็นใต้น้ำเพียงหนเดียว ถามนักดำน้ำด้วยกัน เท่าที่รู้มีคนเคยเห็นเพียง 3-4 ราย และเป็นสมัยก่อนทั้งนั้น เพราะปัจจุบัน ปริมาณโรนินน้อยลงจนแทบไม่มีข้อมูล”

อาจารย์ธรณ์ ระบุว่าทีมงานได้ใส่ชื่อปลาโรนินในฐานะสัตว์คุ้มครองในยุคที่ผลักดันวาฬบรูด้าและผองเพื่อนเป็นสัตว์สงวน และผ่านทุกกระบวนการในเวลาไม่ถึงปี ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์สงวน และยังมีมติให้สัตว์ทะเลอีก 12 ชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยมีโรนินเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นมติครม. มีในวันที่ 21 มิถุนายน 2559

ทั้งยังกล่าวว่าหลังจากนั้นตนก็ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าอย่างไม่เป็นทางการกับหลายตท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่งานในกฤษฎีกา แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีผลลัพธ์ให้ได้เห็น สัตว์ทั้งหมดยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

“แม้ผมจะเห็นด้วยว่าโรนินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการท่องเที่ยวมหาศาล แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความภาคภูมิใจของคนรุ่นเราความภูมิใจที่สามารถรักษาสัตว์หายากของโลก ปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน ให้คงอยู่ในทะเลไทยต่อไปลูกเราหลานเรากำลังจะรู้จักปลาโรนินแต่เพียงชื่อ” อาจารย์ธรณ์ กล่าว

HeadStart International School Phuket

“หากกฎหมายออกมาทันเวลา และการมีหวังน้อยๆ ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลยจึงใคร่ขอคนรักทะเลทั้งหลาย ช่วยกันแชร์ช่วยกันบอกกล่าวเรื่องนี้ไปเพราะพวกเราไม่อยากเห็นกฎหมายออกมาเมื่อสายเกินไป ดังที่เกิดมาแล้วหลายครั้งคราวน้ำตาและความเสียใจเมื่อสายเกินไป มันตอบคำถามลูกหลานไม่ได้หรอกครับขอบคุณครับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

ทั้งนี้ฉลามโรนิน หรือที่เรียกว่าปลาฉนาก หรือทางภาคใต้เรียกว่ากระเบนท้องน้ำนั้น เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้สะสมเครื่องประดับจากกระดูกสัตว์เนื่องจากครีบหลังของฉลามโรนิน มีกระดูกแข็งที่สามารถนำมาทำหัวแหวนหรือเครื่องประดับอื่นๆ และเนื่องจากเป็นปลาที่หายากทำให้ปัจจุบันทั้งตัวปลาและกระดูกมีราคาสูงมาก

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่