เจ้าของร้านอาหารดังหาดกะรนขอโทษสังคมหลังโซเชียลแชร์ภาพฉลามเสือดาว รับเป็นภาพเก่า

ภูเก็ต - สบทช.9 ลงตรวจร้านอาหารชื่อดัง ภายหลังจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 60 เพจเฟซบุ๊ก Sunshine Sketcher ได้มีการโพสต์ภาพฉลามเสือดาวขณะถูกชำแหละ และฉลามหัวบาตรที่ถูกแขวนโชว์ในร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งซึ่งระบุว่าตั้งอยู่ที่หน้าหาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต โดยนทท.ต่างชาติได้บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 20 พฤศจิกายน 2560, เวลา 10:01 น.

เพจเฟซบุ๊ก ดังกล่าวได้ระบุว่า “ความตายที่กะรน ภาพฉลามเสือดาวถูกชำแหละและแขวนโชว์ในร้านอาหารทะเลภาพนี้ (ภาพแรก) ถูกถ่ายได้โดยโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 พ.ย. 60) ส่วนภาพที่สองเป็นฉลามหัวบาตร เป็นภาพที่ถ่ายจากร้านเดียวกันเช่นกันแต่คนละช่วงเวลาในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมายังประเทศไทยจำนวนมากโดยเฉพาะนักดำน้ำ ฝันว่าจะได้มีโอกาสเห็นฉลามเสือดาวใต้ท้องทะเล แต่นอกจากใต้ทะเลที่ว่างเปล่าไม่มีเงาฉลาม ยังต้องมาพบกับสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์วางขายอย่างเปิดเผยในร้านอาหารทะเล

ฉลามเสือดาว (Zebra Shark - Stegostoma fasciatum) เป็นฉลามครีบยาว ลำตัวสีเหลืองมีลายจุดสีดำกระจายตลอดลำตัวคล้ายเสือดาว ไม่ดุร้ายและชอบหากินอยู่ตามพื้นทะเล มักพบอยู่บริเวณกองหิน หรือพื้นทรายใกล้แนวปะการัง ตั้งแต่แนวน้ำตื้นจนถึงระดับความลึก 60 เมตร  สถานภาพของฉลามเสือดาวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และการประเมินล่าสุดโดย IUCN Red List เมื่อปีที่แล้ว จัดให้ฉลามเสือดาวมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เพราะมีประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว และถูกคุกคามอย่างหนักจากการประมง ด้วยความที่เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้พยายามผลักดันให้ฉลามเสือดาวให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ปรากฎว่าถูกทักท้วงจากผู้เชี่ยวชาญบางท่านว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ ทำให้ไม่ผ่านการพิจารณา

ในขณะที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทะเลและสัตว์ที่มีคุณค่าอย่างฉลาม ภาพสัตว์ทะเลหายากที่วางขายอย่างเปิดเผยในภูเก็ต สะท้อนถึงความล้าหลัง ความอ่อนแอ ความไม่สนใจ และความไร้ประสิทธิภาพอย่างถึงที่สุดของงานอนุรักษ์ทางทะเลในบ้านเรา ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องช่วยกันเรียกร้องให้สิ่งเหล่านี้หมดไป และให้การคุ้มครองสัตว์เหล่านี้อย่างที่พวกเขาควรจะได้รับ โปรดอย่าสนับสนุนการกินฉลาม และร้านอาหารที่มีเมนูฉลาม เพราะฉลามเป็นๆ มีค่ากว่าฉลามที่ตายแล้วมากมาย”

ทั้งนี้หลังมีการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นและแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก รวมถึง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้โพสต์กรณีดังกล่าว และเรียกร้องให้ช่วยกันอนุรักษ์ ระหว่างรอการประกาศกฤษฏีกาขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนร่วมกับสัตว์ทะเลอื่นอีกหลายชนิดที่ได้ผลักดันมาก่อนหน้า  

กระทั่งเมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (19 พ.ย. 60) เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ภูเก็ต (สบทช.9)  นำโดย นายนเรศ ชูผึ้ง เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เดินทางไปตรวจสอบร้านดังกล่าว ซึ่งอยู่บริเวณทางเข้าโรงแรมดังบริเวณ ถ.กะตะ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต  โดยได้พบกับนายณรงค์ชัย ธนทวีสกุล เจ้าของร้าน และนายธีรศักดิ์ จำปาทอง ผู้จัดการร้าน จึงได้แจ้งความผิดตามประกาศจังหวัดของสัตว์ทะเลหายากชนิดต่างๆ ตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2553 และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมขอให้เซ็นลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืองดจำหน่ายเพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก  

ที่แผงหน้าร้านพบว่ามีเพียงปลาสดและอาหารทะเลทั่วไปไม่มีการจำหน่ายปลาฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาวตามที่ปรากฏในโซเชียล ซึ่งนายณรงค์ชัย ธนทวีสกุล เจ้าของร้านยอมรับว่าเป็นภาพดังกล่าวถูกถ่ายจากภายในร้านเพียง 1 ภาพ คือภาพฉลามเสือดาว เเต่ภาพฉลามหัวบาตรไม่ใช่ที่ร้าน โดยเป็นภาพที่ถ่ายนานแล้วประมาณ1 - 2 ปีพร้อมให้ความร่วมมือจะไม่จำหน่ายปลาหายากอีก 

ทั้งนี้นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่าปลาฉลามเสือดาวตัวดังกล่าวทางร้านได้ประมูลมาจากท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาภูเก็ต โดยไม่ทราบว่ามีความผิดตามกฏหมาย เนื่องจากพบว่ามีการขายกันตามแพปลาต่างๆ เป็นปกติ พร้อมฝากขอโทษไปยังพี่น้องชาวภูเก็ต คนไทย และโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่นำเสนอ จากนี้ทราบแล้วว่ามีปลาหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ก็พร้อมจะช่วยประชาสัมพันธ์ 

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมยังร้านอาหารทะเลใกล้เคียงกับร้านดังกล่าวพบว่ามีอีกหนึ่งร้านที่จำหน่ายปลาฉลามโรนินและปลานกแก้ว ซึ่งเป็นปลา ต้องห้ามตามประกาศประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2553 แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าที่กำหนด จึงไม่มีความผิด เจ้าหน้าที่จึงทำได้เพียงพูดคุยขอความร่วมมือ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่