เจ้าท่าเดินหน้าพัฒนาท่องเที่ยวขนส่งทางทะเลแบบครบวงจร พัฒนาท่าเรือชุมชนฝั่งอันดามัน

ภูเก็ต - กรมเจ้าท่า เตรียมจัดทำแผนแม่บทพัฒนาศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) แบบครบวงจรและพัฒนาท่าเรือชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ยกระดับการท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ณ จังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 26 ตุลาคม 2566, เวลา 12:17 น.

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแนะนำโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) แบบครบวงจรและพัฒนาท่าเรือชุมชนในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ครั้งที่ 1 โดยมี นายนรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนสงทางน้ำ นายณชพงศ ประนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ผู้แทนส่วนราชการ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ในพื้นที่จังหวัดฝั่งอันดามัน ร่วมประชุม

นายนรินทร์ศักย์ กล่าวว่า จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของประชากรของโลก ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล และบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ทั้ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติที่โดดเด่นอย่างมากมาย มีทั้งหาดทราย ชายทะเล หมู่เกาะต่างๆ ที่สวยงาม รวมทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การดำน้ำ ปีนผา มีมนต์เสน่ห์ของความเป็น "Andaman Paradise หรือ มรกตเมืองใต้" โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง เปรียบเสมือน "ไข่มุกอันดามัน " และจังหวัดกระบี่ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่น หมู่เกาะพีพี หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในอ่าวพังงา เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และเกาะตาชัย ส่วนจังหวัดตรัง มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และธรรมชาติ ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะม้า และเกาะไหง จังหวัดสตูล มีเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ และอุทยานธรณีโลก และจังหวัดระนอง มีอุทยานแห่งชาติแหลมสน มีการท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศเมียนมาร์ มีแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา เป็นต้น

ทั้งนี้ จากศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและขายฝั่งอันดามัน ทั้ง 6 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีการใช้เรือโดยสาร ไปยังเกาะแก่งต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็ก อย่างเรือหัวโทง เรือเร็ว และเรือโดยสารขนาดใหญ่ รวมทั้งการใช้เรือสำราญกีฬา Yacht และเรื่อสำราญขนาดใหญ่ Cruise ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าทั้ง 6 จังหวัด มีศักยภาพในการขนส่งสินค้า โดยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืน ควบคู่กับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
เกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายโสภณ กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งทางทะเล รวมถึงเป็นประตูการค้ารองรับผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าแปรูรูปทางการเกษตร ประมง ตามศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้ในพื้นที่ พร้อมยกระดับฐานะและคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่