เริ่มแล้ว! เชิงทะเลเดินระบบบำบัดน้ำเสีย 1 มี.ค.สัญญา 7 เดือน

ภูเก็ต - นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ยืนยัน เปิดใช้งานระบบบำบัดน้ำเสียพื้นที่อบต.เชิงทะเล ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 พร้อมไปกับการติดตั้งเครื่องผลิตน้ำโอโซนบริเวณคลองบางเทา เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียมีลักษณะเป็นสีดำคล้ำ และมีกลิ่นเหม็น ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและความเสียหายให้แก่ภาพลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต ในฐานะที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก

วรัญญา พรหมพิณพิลาส

วันเสาร์ ที่ 2 มีนาคม 2562, เวลา 09:00 น.

เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ นายมาแอน สำราญ นายกอบต.เชิงทะเล ได้เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาน้ำเสียที่บริเวณคลองบางเทาในระยะเร่งด่วน โดยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบโอโซนที่บริเวณปากคลองบางเทา เพื่อทำการบำบัดน้ำเสียในคลอง ก่อนจะถูกปล่อยลงหาดบางเทา

“อบต.เชิงทะเล นำระบบบำบัดน้ำเสียแบบโอโซนมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปก่อน ทำให้น้ำเสียในช่วงปลายของคลองบางเทาถูกแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยส่วนข้างบนของคลอง ตอนนี้น้ำใสและไม่มีกลิ่นแล้ว แต่ที่เห็นว่าคลองยังเป็นสีดำ เพราะมันคือส่วนของพื้นของคลอง ที่ทาง อบต.เชิงทะเล กำลังหาทางแก้ไข และอาจจะจ้างบริษัทมาขุดดินโคลนบริเวณพื้นคลองออก ซึ่งเป็นโครงการในเร็ว ๆ นี้” นายมาแอน กล่าว

สำหรับบริษัทที่เข้ามารับผิดชอบในโครงการดังกล่าวคือ Eastern Thai Consulting 1992 อบต.เชิงทะเลว่าจ้างเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 เมษายน 2562 งบประมาณ 4 แสนบาท รวมค่าเครื่องโอโซน และเจ้าหน้าที่มาทำการบำบัด โดยจะทำการบำบัดเป็นระยะทาง 150 เมตร จากปากคลองบางเทา โดยจะทำการบำบัดในขณะที่น้ำทะเลลดระดับ เนื่องจากไม่สามารถทำได้ในขณะน้ำขึ้น เพราะน้ำทะเลสะอาดอยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ในการบำบัด

ทั้งนี้ หลังจากช่วงทดสอบ 2 เดือน หากพบว่าผลการบำบัดน้ำเสียออกมาดีเป็นที่พอใจ ทาง อบต.เชิงทะเล จะทำเป็นโครงการถาวรต่อไป

ในส่วนของการเปิดใช้งานระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล นายมาแอนอธิบายว่า จะเริ่มเปิดใช้งานโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสีย ระยะที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป โดยระบบบำบัดน้ำเสียมูลค่า 355 ล้านบาทนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากสถานประกอบการ เช่น โรงแรม ร้านค้า รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 5 ของตำบลเชิงทะเล เข้าสู่ระบบบำบัดเพื่อให้น้ำสะอาดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ทางอบต.ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ประยงค์ศิลป์การโยธา ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โดยก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555-2560 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 355,520,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณที่มาจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 248,773,025 บาท และของอบต.เชิงทะเล 106,746,975 บาท

ในเรื่องนี้ นายมาแอนอธิบายว่า ภายหลังการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมีฮาร์ดแวร์ทุกอย่างครบถ้วน ก็มีการทดสอบระบบอย่างถี่ถ้วน และพบว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือหลังจากที่อบต.รวบรวมราคากลางในการจัดจ้างตามระเบียบที่ปีละ 5 ล้านบาท ปรากฏว่าไม่มีบริษัทใดเข้ามายื่นความจำนงเพื่อจัดการเดินระบบบำบัดน้ำเสียเลย

จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่บริษัทที่ดำเนินจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของทม.ป่าตองได้เข้ามายื่นซื้อซอง เพื่อเดินระบบบำบัดน้ำเสียของอบต.เชิงทะเล (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

นายกอบต.อธิบายว่า สถานีบำบัดน้ำเสียแห่งที่ 1 ติดตั้งอยู่ที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ เพื่อรับน้ำเสียจากพื้นที่หมู่ 3 ไปบำบัด ก่อนปล่อยลงหาดสุรินทร์ ยกเว้นตอนหน้าแล้งที่เมื่อบำบัดแล้วจะเอาน้ำดีกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น รดน้ำสนามหญ้าและต้นไม้ หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ ส่วนสถานีบำบัดน้ำเสียแห่งที่ 2 ถูกติดตั้งที่บริเวณหาดบางเทา เพื่อรับน้ำเสียจากพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 5 ไปบำบัด และปล่อยลงหาดบางเทา อย่างไรก็ตามสำหรับสถานีบำบัดแห่งที่ 2 นั้นทาง อบต.ไม่มีพื้นที่ในการเก็บกักน้ำดีไว้ใช้ประโยชน์ในหน้าแล้งเหมือนที่หาดสุรินทร์

บริษัทที่รับผิดชอบดูแลการบำบัดน้ำเสียทั้งระบบคือ บริษัท ขวัญรวี จำกัด ทำสัญญากับอบต.ด้วยงบประมาณ 3.2 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 30 กันยายน 2562 ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะทำการเดินระบบ บจก.ขวัญรวี ได้เข้ามาทำการซ่อมระบบบำบัดน้ำเสียทั้ง 2 จุด แล้ว ด้วยงบประมาณ 1.65 ล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสำหรับการเดินเครื่องตลอด 24 ชม.

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเหตุผลการสิ้นสุดปีงบประมาณ ทำให้สามารถว่าจ้างได้เพียง 7 เดือน หลังจากนั้นจะต้องมีการยื่นประมูลราคา เพื่อหาผู้รับจ้างตามระบบราชการต่อไป

นอกจากนี้ นายมาแอน ยืนยันอีกว่าในขณะเดียวกัน อบต.จะมีการทำงานร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เป็นแบบคู่ขนานภายหลังจากที่ได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันแล้วว่า อจน.ประสงค์จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามโครงการของ อจน.ต้องดำเนินการอย่างน้อย 15 ปี ในลักษณะก่อหนี้ผูกพัน ล่าสุดสภาอนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญา รวมทั้งข้อตกลงในรายระเอียดการจัดการทั้งระบบกับอจน. คาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน อจน.จะเข้ามาบริหารจัดการแทนบริษัทที่อบต.จัดจ้างได้ในปี 2564

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่