เรื่องใหญ่มิอาจมองข้าม รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สวนดุสิตโพล ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นหัวข้อ ’มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ภัยสังคม ณ วันนี้ พบว่าการพบเจอมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่พบเห็นจากข่าวทางสื่อต่าง ๆ ร้อยละ 40.19

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันอังคาร ที่ 1 มีนาคม 2565, เวลา 12:05 น.

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

รองลงมาคือ ญาติพี่น้อง คนรู้จักเคยพบ ร้อยละ 32.87 เคยพบด้วยตนเอง ร้อยละ 21.02 สาเหตุที่ระบาดหนักและแก้ไขยาก คือ มีวิธีการหลอกลวงที่ทันสมัย ไม่ต้องแสดงตัวตน วิธีป้องกันแก้ไขปัญหา คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดการกับต้นตอ กวาดล้างให้สิ้นซาก ร้อยละ 84.58 รองลงมาคือ ประชาชนต้องมีสติ ไม่หลงเชื่อ ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 82.36

ข้อมูลจากสวนดุสิตโพลสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังกำลังระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ผู้คนไม่ว่าระดับไหนก็มีโอกาสได้พบเจอกับปัญหานี้

อันที่จริงปัญหามิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกลวงเอาเงินประชาชนนี้มีมานานพอควร เฉพาะปี2564 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บช.สอท.กว่า 1,600 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 1,000 ล้านบาท เดือน ม.ค. ถึง 15 ก.พ. 2565 เข้าแจ้งความแล้ว 129 คดี สถิติทางคดีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงระบาดต่อเนื่อง

อย่างที่กล่าวมาว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีมานานพอควร แต่สิ่งที่เปลี่ยนหรือเพิ่มเติมขึ้นมา คือช่องทางที่มากขึ้นแต่เดิมมีเฉพาะทางโทรศัพท์ แต่ทุกวันนี้มีเพิ่มขึ้นทั้งโทรออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดีย ฯ ขณะที่หัวข้อหรือเรื่องราวที่นำมาหลอกลวงก็เปลี่ยนไป ที่ระบาดหนักๆ ในตอนนี้ คือโทรมาอ้างว่าเป็นไปรษณีย์หรือบริษัทขนส่ง แจ้งว่าผู้รับสายส่งพัสดุผิดกฎหมายแล้วข่มขู่หากไม่อยากถูกแจ้งความดำเนินคดี ให้โอนเงินไปบัญชีของแก๊งมิจฉาชีพที่โทรมา อีกตัวอย่าง อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. แจ้งว่าเงินในบัญชีของผู้รับสายมีปัญหาให้โอนเงินเข้าบัญชีต้นสายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อนำเงินไปตรวจสอบ หรืออีกตัวอย่างที่กำลังระบาด คือการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาแจ้งปลายสายว่าบัญชีเงินฝากของผู้รับสายมีปัญหา ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่านของผู้รับสายไปแก้ไขข้อมูล เมื่อผู้รับสายหลงเชื่อให้ข้อมูลพร้อมรหัสไป มิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะนำไปใช้ขโมยเงินในบัญชีของผู้รับสาย

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหา - นายกฯ สั่งใช้กฎหมายจัดการขั้นเด็ดขาด

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชน จึงกำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวง พร้อมเน้นย้ำให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษในทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อยกเว้น หากพบเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้การช่วยเหลือผู้กระทำความผิด รวมถึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา และเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ดีอีเอส เตรียมใช้หลายมาตรการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส บอกว่า อยู่ระหว่างสรุปมาตรการ โดยจะให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ช่วยหาทางป้องกันการโอนเงินที่ได้จากเหยื่อไปต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะโอนเป็นเงินแล้วยังโอนผ่านการซื้อบิตคอยน์ทำให้ติดตามได้ยาก พร้อมประสานกับค่ายมือถือเพื่อให้หาวิธีเตือนผู้ใช้โทรศัพท์ให้ระวังการตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหากเป็นเบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ เบอร์ที่โทรผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือเบอร์ที่โทรผ่านบริการ VoIP ซึ่งสามารถโทรออกได้อย่างเดียว ผู้ที่ได้รับการติดต่อไม่สามารถโทรกลับได้ ทางค่ายมือถือจะขึ้นเป็นเครื่องหมายบวกเพื่อแจ้งเตือนผู้รับให้ระมัดระวังว่าอาจเป็นแก๊งมิจฉาชีพ

นอกจากนี้ จะประสานกับบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชน โดยมิจฉาชีพจะใช้แอ็คเคาน์ปลอมทำให้เหยื่อหลงเชื่อและไม่สามารถติดตามตัวได้ เช่น ใช้ชื่อปลอม รูปปลอม ปัจจุบันทางโซเชียลมีเดียไม่มีมาตรการคัดกรองคนที่เปิดไลน์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม สามารถใช้ชื่อและรูปของดารา คนมีชื่อเสียง ข้าราชการ มาหลอกให้โอนเงินไปตรวจสอบหรือหลอกให้บริจาค โดยจะหารือกับเจ้าของแพลตฟอร์มว่าจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการต่างประเทศของไทยจะประสานกับรัฐบาลกัมพูชาให้ช่วยจับกุมและเร่งรัดคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรมาหลอกลวงคนไทยด้วย

สตช.เดินหน้าปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นำโดยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และตำรวจภูธรภาคต่างๆ ได้กวาดล้างจับกุมทั้งในและนอกประเทศซึ่งในประเทศแก๊งคอลเซ็นเตอร์มักมีฐานตามตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทางตำรวจได้สนธิกำลังหลายฝ่ายเข้าจับกุมตัดเส้นทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปได้แล้วหลายคดี ขณะที่ในต่างประเทศมีการร่วมมือกับทางการกัมพูชานำกำลังเข้าไปจับถึงกัมพูชาและนำตัวกลับมาคดีในไทยไปแล้วหลายคดี

ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วควรทำอย่างไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แนะนำสิ่งที่ผู้บริโภค หรือลูกค้าแบงก์ควรทำทันทีเมื่อตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ
1. รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
2. ติดต่อผ่านบริการลูกค้าของสถาบันการเงิน เพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน
3. หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่างๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป
4. แจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงคืนเงินได้
5. แจ้งเบาะแสไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
6. ทำใจเมื่อมิจฉาชีพได้รับเงินโอน จะรีบกดเงินออกจากบัญชีทันที ทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยมาก

แม้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ออกมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่เชื่อว่าส่วนสำคัญที่จะป้องกันความเสียหายต่อไปได้ก็คือประชาชนแต่ละคนเองที่ต้องตั้งสติในการรับมือแก๊งมิจฉาชีพนี้ด้วยการไม่รับสายเบอร์แปลก ไม่หลงเชื่อข้อมูลที่ไม่น่าจะเป็นความจริง ไม่หลงโอนเงิน ไม่หลงให้ข้อมูลทางการเงินสำคัญ ฯลฯ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่