แท็กซี่ภูเก็ตเข้าชี้แจงกับรองผู้ว่าฯ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขนส่งสั่งลงโทษ

ภูเก็ต - โชว์เฟอร์แท็กซี่ภูเก็ต เข้าชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรองผู้ว่าภูเก็ต เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว พร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 31 มกราคม 2565, เวลา 18:37 น.

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Kevin Phol” ได้เผยแพร่คลิปปรากฏภาพการโต้เถียงกับคนขับรถแท็กซี่ ที่บริเวณหน้าคาเฟ่ชื่อดังย่านหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต หลังเรียกค่าโดยสารเป็นเงิน 600 บาท จากหน้าคาเฟ่หาดกมลาไปส่งที่พักในหาดป่าตอง ทำให้มีผู้คนในสังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง หลายคนที่เคยมาท่องเที่ยวภูเก็ต และอาจเคยถูกเรียกค่าโดยสารราคาแพง ต่างระดมกันเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 09.30 น. นายเจษฎา หรือบังหนุ่ม คาหะปะนะ อายุ 48 ปี โชว์เฟอร์รถแท็กซี่ที่ปรากฏตัวในคลิป ได้เดินทางมาพร้อมด้วยภรรยาและลูกสาว มายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าพบเข้าชี้แจ้งเนื่องที่เกิดขึ้นกับ นายอนุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายจตุรงค์ เเก้วกสิ  รักษาการขนส่งจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะกรรมการ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดภูเก็ต โดยได้เข้าชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความโมโหที่ได้ยินนักท่องเที่ยวกล่าวหาว่าโกง 

ทางด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ซักถามถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนอยู่บันทึกภาพการประชุมแต่อย่างใด 

โดยนายเจษฎา กล่าวว่า เมื่อวานได้ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่ทางคู่กรณีได้ไปแจ้งความว่า ตนเองได้ข่มขู่ทำให้เขาหวาดกลัว ซึ่งตนก็ไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ตนเองก็จะปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะไปขอคำปรึกษาจากคนที่รู้เรื่องข้อกฎหมาย ส่วนตนเองก็อยากให้เรื่องนี้จบลงเร็วที่สุด ไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของอาชีพมันเสียไปเพราะการกระทำของตนเอง 

ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการให้ข้อมูลของกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ยังไม่มีรายงานว่า ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่จะดำเนินการ หรือมีบทลงโทษอย่างไรต่อไป ต้องรอผลสรุปจากการประชุมอีกครั้ง ส่วนคู่กรณีล่าสุดทราบว่าได้เดินทางกลับไปยังกรุงเทพแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา 

นายจตุรงค์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือว่าส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวของภูเก็ต วันนี้จึงได้มีการประชุมร่วมกัน และได้นำประเด็นนี้เข้ามาพิจารณาร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ หอการค้า รวมถึงภาคเอกชน เพื่อระดมความคิดเห็น กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดกรณีพิพากหรือปัญหาในลักษณะดังกล่าวอีก 

“สำหรับอัตราค่าโดยสารรถรับจ้างในจังหวัดภูเก็ต ได้มีการจัดทำอัตราค่าโดยสารแนะนำไว้ เพื่อให้ตัวผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดภูเก็ต ได้ดาวน์โหลด เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในการต่อรองราคาเพื่อใช้บริการ โดยใช้ราคาแนะนำเป็นฐาน และที่สำคัญเพื่อเป็นการไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร” นายจตุรงค์ กล่าว 

"ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่รัดกุมรอบคอบ ไม่มีการแนะนำอัตราค่าโดยสารที่กำหนดโดยทางจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาสำคัญของภูเก็ตคือปัญหาเรื่องรถสาธารณะ การยกระดับการให้บริการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่เริ่มเปิดเมืองเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาภูเก็ตเป็นจำนวนมาก การเป็นเจ้าบ้านที่ดีจึงต้องมีการทบทวนและทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการ ซึ่งเรื่องนี้ทางขนส่งจังหวัดก็จะเป็นเจ้าภาพในการเชิญกลุ่มผู้ให้บริการรถรับจ้างกลุ่มต่าง ๆ เข้ามารับทราบนโยบายและมาตรฐานในการให้บริการที่จะมีการเร่งดำเนินการโดยเร็ว”

“ในส่วนของปัญหารถรับจ้างที่จะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งอาจจะยังคงมีปัญหาในการปิดกั้นอยู่ ทางจังหวัดภูเก็ตก็จะให้ความสำคัญ และจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับตำรวจและทางปกครอง ในการจัดพื้นที่จอดรถรับจ้างสาธารณะในแต่ละประเภท ทั้งรถยนต์บริการและรถแท็กซี่มิตเตอร์ รวมถึงรถอื่น ๆ ที่จะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเสรี รวมถึงการเรียกใช้รถรับจ้างผ่านแอปพริเคชั่น ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นเทรนในอนาคต การเรียกใช้รถผ่ายแอปก็จะเข้ามาแทนที่การเรียกรถตามคิว จึงได้มีการเตรียมรองรับเอาไว้ โดยเฉพาะปัญหาเรียกรถแล้วไม่สามารถเข้าไปรับได้ ก็จะแก้ไขในส่วนนี้”

“สำหรับรถยนต์บริการต่าง ๆ ที่ให้บริการอยู่ในจังหวัดภูเก็ต จะเป็นการตกลงราคา ซึ่งจะไม่เหมือนกับรถยนต์โดยสารประจำทาง ถ้ารถโดยสารประจำทางก็จะมีอัตราค่าโดยสารชัดเจน หากผู้ให้บริการไม่เก็บค่าโดยสารเป็นไปตามอัตราที่กำหนดของทางราชการก็จะมีบทลงโทษที่ชัดเจน ส่วนการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะทั่วไป เช่นรถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ป้ายเขียวต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับต้นทางปลายทาง ของผู้ใช้บริการ ราคาก็จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ให้บริการเป็นรถขนาดเล็ก รถขนาดใหญ่  ราคาก็อาจจะสูงตามไป” นายจตุรงค์ กล่าว

ปัจจุบันมีรถให้บริการซึ่งเป็นรถป้ายเขียวเกือบ 4 พันคัน รถตุ๊กตุ๊กสีแดง ที่อยู่บริเวณหน้าหาดประมาณ 1 พันคัน ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนแท็กซี่มิตเตอร์จะมีประมาณ 290 คัน ซึ่งส่วนใหญ่จะให้บริการอยู่ที่สนามบิน 

ในส่วนของการใช้แอปพลิเคชั่น นายจตุรงค์อธิบายว่า จังหวัดภูเก็ตมีหลากหลาย แต่แอปที่ได้มีการรับรองจากขนส่งทางบกขระนี้มีเพียงแอปเดียวก็คือ เฮลโลภูเก็ตเซอร์วิส ซึ่งได้รับการตรวจสอบราคาจากกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว ส่วนแอปฯ อื่นอยู่ในระหว่างการขอการรับรอง ยังไม่ได้รับอนุญาต ราคาที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่ง ก็จะมีราคาที่เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงถ้าเป็นรถยนต์บริการต่างๆก็จะเป็นไปตามอัตราที่ทางจังหวัดจัดทำอัตราแนะนำ ซึ่งจากข้อเท็จจริงแอปฯ ที่ทางผู้เสียหายใช้ก็เป็นแอปฯ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาต ราคาจึงมีความแตกต่างกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามก็จะไปตรวจสอบที่เกิดเหตุว่า สาเหตุใดที่รถไม่สามารถเข้าไปรับผู้โดยสารตรงนั้นได้ 

“ส่วนพฤติกรรมของแท็กซี่ที่ปรากฏตามคลิปถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งพบว่าผู้ขับขี่เองก็อยู่ในอารมณ์โกรธ จึงมีการใช้วาจาต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้ทางขนส่งจังหวัดก็จะดำเนินการลงโทษ และอบรมตัวผู้ขับขี่รถให้ใช้กริยาวาจาที่สุภาพ ถึงแม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่จะมีการนำตัวเข้าอบรม 3 ชั่วโมง รวมถึงมาตรการในการปรับแต้มผู้ขับขี่รถโดยสาร ก็อาจจะมีการนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณาเพื่อใช้ในอนาคต” นายจตุรงค์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา นายเฆวิน พล นักท่องเที่ยวคู่กรณีได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งค่าเป็นสาธารณะระบุว่า ตนรู้สึกเสียใจและจะไม่กลับมาเที่ยวภูเก็ตอีกแล้ว

“ได้อ่านคอมเม้นคนภูเก็ตในไลฟ์ ผมเสียใจมากนะครับ ขอบอกแค่นี้ ไม่ต้องมาถามเรื่องนี้อีกแล้วนะ ดูคลิปเอา ลงให้แล้วนะ ก็ขอให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงกันนะครับ ส่วนผมขอลาออกจากวงการนี้นะ เจอแบบนี้รู้สึกแย่ ไม่กลับมาอีกแล้วครับภูเก็ต สมุยดีกว่าเยอะ”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่