แพทย์ระดมช่วยเหลือช่วยเต่าตนุกินขยะทะเล พบเชือกเส้นใยเกือบครึ่ง ล่าสุดปลอดภัยแล้ว

ภูเก็ต - เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานผลการช่วยชีวิต เต่าตนุ วัยเด็ก ขนาดความยาวกระดอง 28 เซนติเมตร น้ำหนัก 3 กิโลกรัม มีอาการอ่อนแรง เกยตื้นหาดกะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขณะนี้ได้นำตัวมาอนุบาลพักฟื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร

เอกภพ ทองทับ

วันอังคาร ที่ 24 สิงหาคม 2564, เวลา 17:35 น.

โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานผลการช่วยชีวิตเต่าตนุตัวดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯได้รับตัวเต่ามาพักฟื้นเพื่อติดตามอาการ โดยพบว่าเต่าตนุได้ขับถ่ายขยะออกมา 158 ชิ้น ตรวจทางรังสีวิทยายังคงพบการอุดตันภายในทางเดินอาหาร ซึ่งคาดว่าเป็นขยะทะเล จากนั้นเต่าได้ถ่ายเป็นขยะทะเลออกมาอีก 4 ครั้ง แบ่งเป็นขยะประเภทพลาสติกบางร้อยละ 19 พลาสติกแข็งร้อยละ 16 เศษถุงพลาสติกร้อยละ 10 เศษขวดน้ำพลาสติกร้อยละ 4 เศษถุงกระสอบร้อยละ 2 และขยะประเภทเชือก สายรัดของ ผ้า-เส้นใยไฟเบอร์ มากที่สุดร้อยละ 49 นับจำนวนขยะได้อีก 191 ชิ้น ชั่งเป็นน้ำหนักขยะแห้งได้ 67 กรัม เมื่อรวมปริมาณขยะที่เต่าตนุขับถ่ายออกมาทั้งหมด 10 ครั้ง พบว่ามีขยะ 349 ชิ้น น้ำหนักขยะแห้งรวม 127 กรัม

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันนี้ (24 ส.ค. 64 ) ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอันดามันตอนบน แหลมพันวา เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ผลการรักษาเต่าตนุตัวดังกล่าว มีอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถว่ายน้ำได้ดีขึ้น กินอาหารได้เอง

นายสัตวแพทย์ ปฐมพงศ์ จงจิตต์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยสัตว์หายาก ชายฝั่งทะเลอันดามัน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะรับตัวมา ในตัวของเต่าจะมีแผลที่ใบพายหน้า ใบพายหลัง ใต้กระดองท้อง และบริเวณสันคอเล็กน้อย ร่างมีภาวะอ่อนแรง แต่ยังว่ายน้ำได้ หลังจากนั้นทางหมอได้ทำการเอ็กซเรย์เบื้องต้น ว่ามีส่วนใดบ้างที่ต้องรักษา หรือมีสิ่งแปลกปลอมอื่นใดอยู่ในตัวสัตว์บ้าง ซึ่งผลการเอ็กซเรย์พบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันบริเวณลำไส้ จากนั้นได้ให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการติดเชื้อในร่างกายและบาดแผลภายนอก รวมถึงการให้วิตามินและสารน้ำให้ผ่านหลอดเลือด และทำการสอดท่อผ่านสายยางตรงเข้าสู่กระเพาะอาหาร

“ตั้งแต่ได้รับเต่าตัวนี้มาเต่าไม่สามารถทานอาหารเองได้ ทำให้หมอต้องปั่นอาหารเหลวคล้ายกับของคน เป็นอาหารอ่อนที่เข้มข้นโดยการคำนวณความต้องการอาหารในแต่ละวันตามน้ำหนักตัว และให้วันเว้นวัน มีการให้ยากระตุ้นทางเดินอาหารอาหารร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการให้สารน้ำ เพื่อปรับภาวะการแห้งน้ำให้เป็นปกติ และมีการทำแผลให้ทุกวัน บริเวณใบพายหน้าใบพายหลัง ใต้กระดองท้อง และบริเวณสันคอ พร้อมทั้งมีการมอนิเตอร์นำเต่ามาเอกซเรย์ซ้ำ ๆ เพื่อตรวจสอบการอุดตันในทางเดินอาหาร ซึ่งล่าสุดหลังจากทำการรักษามาประมาณ 1 เดือน ผลการรักษาเต่าตนุตัวนี้ดีขึ้น ขับถ่ายเองได้ สามารถที่จะกินอาหารเองได้ ว่ายน้ำได้ ภาวการณ์แห้งน้ำก็ดีขึ้น อาการล่าสุดปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องมีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป”

น.สพ.ปฐมพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกหดหู เมื่อเห็นสัตว์ทะเลได้รับบาดเจ็บจากการขยะทะเล เนื่องจากในธรรมชาติ สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ไม่ควรที่จะเข้าไปสร้างปัญหาให้กับสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจกินเศษขยะทะเลเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม และแม้ว่าตนจะรักษาเต่าตัวนี้ให้หายดี ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถ้าหากปัญหาขยะทะเลยังไม่ได้รับการแก้ไข เคสเหล่านี้ก็จะมีมาเรื่อย ๆ

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่