แพทย์เผยไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ภูเก็ต 63 ปีเจ้าของร้านอาหารหน้าลานโลมา หาดป่าตอง

ภูเก็ต - วันนี้ (28 เม.ย.) เวลา 16.40 น. นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต(สสจ.) และ นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ต โดยมี พลเรือตรีวโรดม สุวารี รอง ผอ.กอ.รมน.จว.ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว ณ ห้องประชุม คอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

เอกภพ ทองทับ

วันอังคาร ที่ 28 เมษายน 2563, เวลา 19:44 น.

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ภาพ เอกภพ ทองทับ

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ภาพ เอกภพ ทองทับ

นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า รายที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 รายที่สองของจังหวัดภูเก็ต เป็นเพศหญิง ผู้ป่วยลำดับที่ 92 อายุ 63 ปี สัญชาติไทย อาชีพเป็นเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่หน้าลานโลมาหาดป่าตอง ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ

โดยในช่วง 14 วันก่อนที่จะป่วย ผู้เสียชีวิตมีประวัติสัมผัสกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมารับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งเจ้าของร้านมีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้า

โดยปกติแล้วผู้ป่วยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้ล้างมือบ่อย ๆ บางวันไปที่ตลาดนัดกะทู้เพื่อจับจ่ายตลาด และอาศัยร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อทั้งสองคน และทำงานที่ร้านอาหารเช่นกัน คือ สามี เป็นผู้ป่วยรายที่ 122 และหลานสาว เป็นผู้ป่วยรายที่ 114

ประวัติการป่วยและเข้ารับการรักษา 

วันที่ 24 มี.ค. มีอาการไข้และมึนศีรษะ เข้ารักษาที่คลินิกเอกชน ได้รักษารวม 3 ครั้ง คือ

วันที่ 24, 26 และ 30 มี.ค. ตามลำดับ อาการไม่ดีขึ้น

ต่อมาวันที่ 1 เม.ย.63 เข้ารับการรักษาที่รพ.ป่าตองด้วยอาการเวียนศีรษะ มีหายใจเหนื่อย มาที่โรงพยาบาล แพทย์ดูแล้วอาการค่อนข้างรุนแรง มีการใส่ท่อช่วยหายใจอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีอาการหอบเหนื่อยมาก ส่งผู้ป่วยมารับการรักษาต่อที่รพ.วชิระภูเก็ต ในวันเดียวกัน

เมื่อมาที่รพ.คนไข้มีอาการไข้สูง 39.8 หายใจหอบเหนื่อยมาก เอ็กซ์เรย์ปอดทั้งสองข้างพบมีปอดติดเชื้อทั้งสองข้าง ส่งผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่ามีผลเป็นบวก
จากนั้นเริ่มให้ยารักษาโรคไวรัสและโรคแบคทีเรียตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยมีอาการความดันโลหิตต่ำ เริ่มมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดทั้งไวรัสและแบคทีเรียที่แรงขึ้น ปอดแย่ลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ

วันที่ 2 เม.ย. เริ่มมีการฟอกไต เริ่มมีภาวะไตล้มเหลว

วันที่ 7 เม.ย. เริ่มมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นความดันต่ำลง หมายความว่า ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะเพิ่ม มากขึ้น ตรวจซ้ำในเชื้อโควิดพบว่ามีผลบวกเป็นครั้งที่ 2

วันที่ 14 เม.ย. พบว่า อาการของชีพจรเต้นช้าลง แพทย์เพิ่มยารักษาไวรัส รวมให้ยาทั้งสิ้น 12 วัน

วันที่ 17 เม.ย. แพทย์เพิ่มยามากขึ้นอีก 1 ตัว

วันที่ 18 เม.ย. ให้ยาฆ่าเชื้อราเพิ่มอีก1ตัว

วันที่ 16-26 เม.ย. อาการหายใจเหนื่อยเป็นช่วง ๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอด และต้องฟอกไตต่อเนื่อง

วันที่ 27 เม.ย. ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว มีภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกและพ่นยาขยายหลอดลม และพยุงการหายใจ มึการติดเชื้อในกระแสเลือดและ ไตวายฉับพลัน ภาวะ เลือดเป็นกรด อยู่ในขั้นที่วิกฤต

ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. เวลา 09.50 น. ผู้ป่วยได้เสียชีวิต ใช้เวลาในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 27 วัน

นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอแสดงความเสียใจกับทางญาติผู้ป่วย สำหรับประวัติที่สัมผัสมีความเสี่ยงสูงในรายนี้ คือ สามีและหลาน ซึ่งติดเชื้อทั้งสองราย ส่วนพนักงานในร้านอาหารทุกรายที่มาตรวจไม่พบเชื้อ

เคสนี้มีการตรวจในเชิงรุก โดยทีมรพ.ป่าตองและทีมสสจ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 2-12 เม.ย. มีการติดตามมาโดยตลอด ในส่วนของสามีและหลานสาว ซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ และ โรงพยาบาลป่าตอง ตามลำดับ โดยทั้งสองคนมีอาการปกติ ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและกลับบ้านแล้ว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่