แรงงานเมียนมาไทยนับร้อยบุกศาลากลาง เรียกร้องนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง ห่วงปิดกิจการเพิ่ม

ภูเก็ต - วันนี้ (4 ส.ค.) เวลา 11.30 น. ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและชาวไทยบางส่วน ของบริษัทประกอบการเกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 100 คน รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีเดือดร้อนจากการจ่ายค่าแรงที่ทางบริษัทยังคงค้างอยู่เกือบ 3 เดือน ห่วงเศรษฐกิจท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น อาจมีการเลิกจ้างและปิดกิจการเพิ่มขึ้น

เอกภพ ทองทับ

วันอังคาร ที่ 4 สิงหาคม 2563, เวลา 17:12 น.

โดยในวันนี้กลุ่มแรงงานของบริษัทได้รวมตัวกันเดินทางมายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมิน ทู คา ตัวแทนกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการมายื่นเอกสารเรียกร้องความเป็นธรรมไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยใด ๆ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้มีการนัดเข้ามาพูดคุยกันในวันนี้ แต่ก็มีการแจ้งเลื่อนไปเป็นวันที่ 13 ส.ค. แทน สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้แรงงานที่ได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนมากจากเหตุที่เกิดขึ้น สิทธิ์จากประกันสังคม มาตรา 33 ที่แรงงานได้รับก็หมดลงแล้ว และแรงงานบางส่วนก็ยังไม่ได้รับสิทธ์นั้น อยากให้บริษัทมีการเยียวยาพนักงานและจ่ายเงินเดือนที่ยังคงค้างค่าแรงของพนักงานให้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยมีการสอบถาม ดูแลและเยียวยาใด ๆ ให้กับพนักงานเลย

ด้านนิติกรตัวแทนจาก สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภูเก็ต กล่าวว่า ในกรณีการร้องเรียนจากแรงงานในครั้งนี้ จะต้องมีการปรึกษาหารือกับทางด้านฝ่ายงานนิติกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ถ้าหากมีการดำเนินคดีได้ก็จะเร่งดำเนินการ ส่วนด้านการช่วยเหลือจากทางประกันสังคมนั้น จะมีกฎหมายและเงื่อนไขของประกันสังคมให้การช่วยเหลืออยู่ หากมีกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าวเกิดขึ้น แรงงานก็สามารถมายื่นเรื่องได้โดยตรงที่ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการนำเรื่องเข้าระบบนั้นจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตแม้ในขณะนี้จะไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังย่ำแย่อยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ปัญหาเรื่องการเลิกจ้าง หรือเลิกกิจการ ผู้ประกอบการก็ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่าย หากจำเป็นต้องเลิกจ้างก็เลิกไปแต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายที่กำหนด หากแต่เป็นห่วงในห้วงอีกหลายเดือนข้างหน้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ดีขึ้น ผู้ประกอบการ นายจ้างอาจจะต้องมีการเลิกจ้างมากขึ้นหรือบางแห่งจะต้องมีการปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่